รายละเอียดโครงการ “พัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน” พื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน บ้านนาบง และบ้านวังปะ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ “สร้างฝายภูมิปัญญาและปลูกต้นไม้พันธุ์พื้นเมือง”

0
370
แถวยืน: นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร (กลาง) กรรมการผู้จัดการ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ดร.รอยล จิตรดอน (ที่ 7 จากขวา) กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกษิดิ์เดช ปันสม (ที่ 7 จากซ้าย) ปลัดอาวุโสอำเภอบ่อเกลือ ผู้แทนรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยตัวแทนผู้นำชุมชนบ้านดงผาปูน บ้านนาบง และบ้านวังปะ จิตอาสาทั้ง 3 ชุมชน ร้านผู้จำหน่ายและจิตอาสาจากกลุ่มลูกค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าจากจังหวัดน่านและใกล้เคียง นักศึกษาทวภาคี วิทยาลัยเทคนิคปัว จังหวัดน่าน

ความเป็นมาโครงการ

พระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2520 กล่าวถึงการรักษาต้นน้ำไว้ว่า “การที่จะมีต้นน้ำ
ลำธารไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การรักษาป่าและปลูกป่าบริเวณต้นน้ำ ซึ่งบนยอดเขาและ

เนินเขาสูง ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นนั้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการทำให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไว้ดีแล้ว ท้องถิ่นจะมีน้ำไว้ใช้ชั่วกาลนาน”
ซึ่งเป็นที่มาของการจัดการน้ำชุมชนตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ความว่า “การจัดการน้ำชุมชนนั้น เห็นความสำเร็จในบางชุมชนแล้ว ให้ชุมชนชาวบ้าน ที่มีความรู้ ประสบความสำเร็จ มีประสบการณ์จัดการและพัฒนาน้ำในพื้นที่ มาช่วยขยายผลไปยังชุมชนอื่น”

การบริหารจัดการน้ำอย่างมีระบบสามารถช่วยลดปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วม และน้ำแล้ง ได้อย่างยั่งยืน
ทำให้มีปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการทำการเกษตรเพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นเรื่อง
ที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญเสมอมา เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยยึดเอาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่
ป่าต้นน้ำและการจัดการแหล่งน้ำ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน

เปรียบเทียบสภาพพื้นที่ป่าของชุมชนบ้านดงผาปูนก่อน (ซ้าย) และหลัง (ขวา) ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ของกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ให้ความสำคัญกับปัญหาภัยทางธรรมชาติเสมอมา โดยเริ่มก่อตั้งกองทุน
เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2555 ซึ่งปัญหาการจัดการน้ำนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย “กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย”
จึงได้ประสานความร่วมมือกับ “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” และ “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)” หรือ สสน. ในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เพื่อการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ประชาชนสามารถพัฒนาหรือบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง พร้อมส่งต่อสู่ชุมชนใกล้เคียงเพื่อพัฒนาต่อไป

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ที่กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยได้ร่วมดำเนินงานเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ซึ่งประสบปัญหาการจัดการน้ำในพื้นป่า
ต้นน้ำน่านในอุทยานแห่งชาติขุนน่านและพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ซึ่งเป็น 1 ใน 25 ลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ
ถูกบุกรุก ตัดไม้ และทำเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว ที่มุ่งเน้นผลผลิตจำนวนมากเพื่อป้อนอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร จนเกิดเป็นพื้นที่เขาหัวโล้นถึง 8 แสนไร่ หรือคิดเป็น 11% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด 7.6 ล้านไร่ ทำให้เกิดปัญหาในช่วงฤดูฝน น้ำจะหลากแล้วชะให้หน้าดินพังทลาย ไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ส่วนช่วงฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตร ไม่สามารถทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งได้ ซึ่งควรได้รับการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนอย่างเร่งด่วน รัฐบาล โดยคณะกรรมการน้ำแห่งชาติในสมัยนั้น จึงได้มอบหมายให้ สสน. ดำเนินการสร้างต้นแบบการฟื้นฟูเขาหัวโล้น โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ให้การสนับสนุนร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในปี พ.ศ. 2560

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2566 รวมระยะเวลา 7 ปี กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ได้ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ดำเนินโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำและบริหารจัดการน้ำ เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมทั้งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ใน 10 พื้นที่ ประกอบด้วย

  1. ชุมชนบ้านดงผาปูน อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน)
  2. ชุมชนร้องแง อำเภอปัว จังหวัดน่าน (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน)
  3. ชุมชนเวียงสา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
  4. ชุมชนป่าแพะ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
  5. ชุมชนนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
  6. ชุมชนตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา
  7. ชุมชนป่าเลา อำเภอสอง จังหวัดแพร่
  8. ชุมชนแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่
  9. ชุมชนตำบลนาแขม อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
  10. ชุมชนดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี

รายละเอียดโครงการ

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐบาลและภาคเอกชน ประกอบด้วย มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ร่วมด้วยกองทัพภาคที่ 3 อุทยานแห่งชาติ
ขุนน่าน  และองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน  มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟู และคืนความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำน่าน ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาของแม่น้ำยม 1 ใน 4 แม่น้ำสายหลักของแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น การพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำลุ่มน้ำน่าน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำหลาก
น้ำท่วม และน้ำแล้ง ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เป้าหมายในการแบ่งสัดส่วนการจัดการพื้นที่ มีดังนี้

  • 20% ของพื้นที่จะสงวนให้เป็นที่ปลูกป่าถาวร สำหรับปลูกไม้ยืนต้น เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำที่มีความชุ่มชื้น รากของไม้ยืนต้นมีขนาดใหญ่และสามารถรักษาดินไว้ได้
  • 20% ของพื้นที่ถัดลงมาจะเป็นพื้นที่ป่าใช้สอย ชาวบ้านสามารถปลูกไม้ยืนต้นที่สร้างรายได้
    หรือนำเอาผลผลิตที่ได้ไปขายได้
  • 30% ถัดลงมาจะเป็นพื้นที่สำหรับการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ หม่อน ต๋าว หวาย มะขมได้
  • 30% พื้นที่ราบจะจัดให้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ หรือพืชหมุนเวียน

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เป็นโครงการระยะยาวแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย

  • ช่วงที่ 1 ดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2562 โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนงบประมาณรวม 42 ล้านบาท เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ให้เข้าใจและบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เกิดความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค แบ่งการดำเนินการตามปัญหาการจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำน่านออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่ชุมชนบ้านนาบงและบ้านดงผาปูน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน (พื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน) ที่ประสบปัญหาป่าเสื่อมโทรม เกิดความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค รวมถึงน้ำเพื่อทำการเกษตรในบางช่วง จึงดำเนินงานฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ประมาณ 3,000 ไร่ (จัดการป่าต้นน้ำ ตามแนวพระราชดำริ) 2) พื้นที่ชุมชนบ้าน
    ร้องแง ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
    ประสบปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝนและน้ำแล้งในช่วงหลังฝน เนื่องจากลำเหมืองไม่สามารถกักเก็บและระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขาดแคลนระบบน้ำอุปโภคในครัวเรือน เนื่องจากระบบกระจายน้ำไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมพื้นที่เกษตร 563 ไร่ (น้ำเพื่ออุปโภคและการเกษตร ด้วยการปรับปรุงฝายและสร้างระบบกระจายน้ำ) และ 3) พื้นที่ชุมชนตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ประสบปัญหาปริมาณน้ำมาก เอ่อเข้าท่วมพื้นที่หลายส่วนของตำบลในช่วงฤดูน้ำหลาก และบางพื้นที่เป็นที่ดอนประสบปัญหาน้ำแล้ง รวมพื้นที่เกษตร 600 ไร่ (น้ำเพื่อการเกษตร ด้วยการขุดลอกสระน้ำเพิ่มประสิทธิภาพกักเก็บและระบายช่วงฤดูฝน)
  • ช่วงที่ 2 ดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2566 โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนงบประมาณรวม 97 ล้านบาท เน้นสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อเป็นต้นแบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อาหาร และผลผลิต เกิดกติกาการบริหารจัดการน้ำที่ยอมรับและนำไปใช้ร่วมกัน สามารถขยายผลความรู้และความสำเร็จสู่พื้นที่ใกล้เคียง ดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน แบ่งออกเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน (รวมชุมชนบ้านนาบงและชุมชนบ้านวังปะ) ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ดำเนินงานฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยฝาย พัฒนาระบบน้ำเพื่ออุปโภคและเกษตร 2) พื้นที่ชุมชนบ้านร้องแง ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน งานระบบท่อส่งน้ำ เสริมฝาย เพื่ออุปโภคและเกษตร 3) พื้นที่ชุมชนตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ขุดลอกคลองและระบบสูบน้ำเพื่ออุปโภคและเกษตร 4) พื้นที่ชุมชนบ้านป่าแพะ ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สร้างฝายเพื่อเก็บน้ำและดักตะกอน ท่อส่งน้ำและปรับปรุงระบบน้ำ และ 5) พื้นที่ชุมชนบ้านปางสา ตำบลจอมจันทร์ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สร้างฝายดักตะกอน ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบน้ำอุปโภค

งบประมาณและผู้รับผลประโยชน์

ผู้ได้รับผลประโยชน์

(ปี 2560 – 2566)

จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร (คน) พื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับผลประโยชน์ (ไร่) ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น (ลบ.ม.) งบประมาณ
ที่ใช้ (บาท)
ชุมชนบ้านดงผาปูน

(รวมบ้านนาบงและบ้านวังปะ)

337 1,121 1,201 6,633 9,257,600
ชุมชนบ้านร้องแง 755 1,655 992 190 4,369,000
ชุมชนตำบลนครป่าหมาก 730 1,938 5,450 137,937 5,543,000
ชุมชนบ้านป่าแพะ 276 803 0 65 603,000
ชุมชนบ้านปางสา 100 397 0 0 623,000
รวมลุ่มน้ำน่านทั้ง 5 พื้นที่ 2,198 5,914 7,643 144,825 20,395,600

 

กิจกรรมสร้างฝายภูมิปัญญาและปลูกต้นไม้พันธุ์พื้นเมือง

กิจกรรมในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ณ บ้านดงผาปูน ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นกิจกรรม
ที่แสดงผลสำเร็จจากการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน
ช่วงที่ 2 ดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2566 บริเวณพื้นที่บ้านดงผาปูน บ้านนาบง และบ้านวังปะ
โดยได้จัดกิจกรรม 1) สร้างฝายภูมิปัญญา (คอกหมู) จำนวน 3 ฝาย และ 2)ปลูกต้นไม้พันธุ์พื้นเมือง เช่น ต๋าว หวาย เมี้ยง มะแขว่น พะยูง ยางนา กฤษณา จำนวนรวม 1,000 ต้น

ทั้งนี้ พื้นที่บ้านดงผาปูน เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ของกองทุนฮอนด้าเคียงช้างไทย เป็นปีที่ 7 จนได้รับการคัดเลือกและประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ (ลำดับที่ 27) เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในครั้งนี้จึงเป็นการขยายผลการดำเนินงานและเสริมความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูนเพิ่มเติม และขยายพื้นที่ไปยังบ้านวังปะ โดยมีวัตถุประสงค์ประกอบด้วย 1) เพื่อชะลอน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นของป่าชุมชน จำนวน 800 ไร่  2) เพื่ออนุรักษ์และเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำท้องถิ่น  3) เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น  4) เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้แก่ป่าและสัตว์ป่า และ 5) เพื่อเป็นแหล่งอาหารและเสริมอาชีพให้คนในท้องถิ่น

สำหรับ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ทำการคัดเลือกจากชุมชนที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงานบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พร้อมเป็นต้นแบบถ่ายทอดให้แก่ชุมชนอื่นเรียนรู้และขยายผล จากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ และ น้อมนำแนวพระราชดำริและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาตามบริบทภูมิสังคม มีความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร ผลผลิตและอาชีพ มีภูมิคุ้มกันและพึ่งพาตนเองได้  เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ใช้พื้นที่ดำเนินงานจริงของชุมชนมาถ่ายทอดขยายผลให้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ เทคนิค และแนวทางการทำงานไปปรับใช้กับพื้นที่ตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป

ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” จำนวน 28 พื้นที่ โดยพื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน เป็นลำดับที่ 27 ทั้งนี้ ชุมชนบ้านดงผาปูน มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาและป่าต้นน้ำ เดิมประสบปัญหาน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม ส่งผลให้ชุมชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของน้ำและป่าในพื้นที่ จึงดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น แบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ของป่า มีกฎกติกาในการดูแลรักษาป่าร่วมกัน โดยหลังจากป่าฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง ส่งผลให้ลำห้วยที่เคยแห้งเหือดกลับมีน้ำไหลตลอดปี ระบบนิเวศของป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคในครัวเรือน รวมทั้งชุมชนได้เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูเขาหัวโล้น ที่เปลี่ยนจากการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวและทำไร่เลื่อนลอย มาปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และทำวนเกษตร จนเกิดความมั่นคงด้านน้ำ มั่นคงด้านอาหาร มั่นคงด้านชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ มีผลผลิตจากป่าเป็นอาหาร สร้างอาชีพและรายได้ จนเป็นตัวอย่างความสำเร็จและขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียง

หน่วยงานร่วมดำเนินการ

  • มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
  • กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย พนักงานตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้า จากจังหวัดน่านและพื้นที่ใกล้เคียง
  • ชุมชนบ้านดงผาปูน บ้านนาบง และบ้านวังปะ
  • นักศึกษาทวภาคี วิทยาลัยเทคนิคปัว จังหวัดน่าน

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่