วันอังคาร, เมษายน 29, 2025
spot_img
หน้าแรกAuto Newsมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ จับมือพันธมิตร เปิดตัวโครงการ “TRUST” ร่วมขับเคลื่อนความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย

มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ จับมือพันธมิตร เปิดตัวโครงการ “TRUST” ร่วมขับเคลื่อนความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย

-

มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และพันธมิตรหลายภาคส่วน ได้แก่ โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เพื่อเปิดตัวโครงการ TRUST (Thailand Road Users Safety through Technology) อย่างเป็นทางการ เพื่อทดสอบแนวทางในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงระบบและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568

นำโดย ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร,  มร. ซูซุมุ มัตสึดะ ผู้อำนวยการมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้, มร. ศรีนิวาสะ โปปุริ ผู้อำนวยการโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ สำนักงานโครงการกรุงเทพมหานคร, ศาสตราจารย์ ดร.มนูกิจ พานิชกุล รองอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ ​นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการใช้เทคโนโลยีมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการขับขี่บนท้องถนน เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุและยกระดับความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย

โครงการ TRUST มีจุดเริ่มต้นจากความมุ่งมั่นของโตโยต้าในการส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน โดยถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ริเริ่มขึ้นจาก การประชุม Tateshina*¹ ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทโตโยต้า ณ ประเทศญี่ปุ่น ในการประชุมดังกล่าว โตโยต้าได้เชิญผู้นำจากหลากหลายอุตสาหกรรมเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความปลอดภัยบนท้องถนน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนสังคมสู่ “Vision Zero” หรือ เป้าหมายลดอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือศูนย์ในระดับโลก

*1 Link : https://global.toyota/en/newsroom/corporate/39544702.html

จากอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในประเทศไทย ประกอบกับความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่ต้องการก้าวสู่การเป็น “Best in Town” มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ จึงได้ริเริ่ม โครงการ TRUST โดยผนึกความร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน เพื่อยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างยั่งยืน การดำเนินงานของโครงการแบ่งออกเป็นหลายระยะ โดยเน้นการนำข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์เพื่อระบุสาเหตุของอุบัติเหตุ ผ่าน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ผู้ใช้ถนน ยานพาหนะ ถนนและโครงสร้างพื้นฐาน

ความคิดริเริ่มที่สำคัญ: ระยะนำร่อง (เฟส 1) และการขยายผลสู่เฟส 2

โครงการทดลองระยะที่ 1 (เมษายน 2567 – มิถุนายน 2568)

ในระยะเริ่มต้นของโครงการ มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ (TMF) ได้ร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ทดลองดำเนินงานในพื้นที่จังหวัด ฉะเชิงเทรา โดยใช้ ข้อมูลจากยานพาหนะของโตโยต้า (Probe Data) เพื่อระบุพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย การศึกษานี้มุ่งเน้นไปที่ 5 จุดเสี่ยง ในอำเภอพนมสารคามและอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา โดยวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ เช่น การเบรกกะทันหัน การเร่งเครื่องอย่างรวดเร็ว การเลี้ยวกระทันหัน

ผลการศึกษาในระยะแรกแสดงให้เห็นว่า Probe Data มีศักยภาพในการระบุจุดเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ยังคงมุ่งเน้นไปที่ยานพาหนะสี่ล้อเป็นหลัก ขณะที่อุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ ซึ่งยังคงต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถทำการวิเคราะห์ได้อย่างครอบคลุมและพัฒนาวิธีการการแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ระยะที่ 2 (พฤษภาคม 2568 – เมษายน 2570)

ในระยะที่ 2 ของโครงการ TRUST มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้จะขยายการใช้แหล่งข้อมูล และเครือข่ายความร่วมมือให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งนำการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงและออกแบบมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่เป้าหมายหลักในระยะนี้คือ เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูง เนื่องจากลักษณะการจราจรที่หนาแน่น และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ครอบคลุมอย่างทั่วถึง

ในระยะนี้ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (RVP) จะเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ โดยให้ ข้อมูลอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยเสริมความแม่นยำในการวิเคราะห์ พร้อมนำไปสู่การพัฒนาแนวทางจัดการความปลอดภัยบนท้องถนนที่เหมาะสมกับบริบทของเมืองอย่างแท้จริง

ความสำเร็จของโครงการ TRUST เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของกลุ่มพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน โดยบทบาทที่ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent)  และแบ่งบทบาทที่ชัดเจน ดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร (BMA) – สนับสนุนด้านฐานข้อมูล, ภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV), และดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัย พร้อมทั้งเป็นผู้ผลักดันโครงการโดยรวม
  • โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) – พัฒนาศักยภาพ, สร้างเครือข่ายระดับโลก, และให้ข้อมูลเชิงลึกด้านความปลอดภัยระดับนานาชาติ
  • สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) – บริหารจัดการโครงการ, ให้การสนับสนุนทางเทคนิค การวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุและพฤติกรรมเสี่ยง รวมถึงกำกับดูแลด้านวิชาการ
  • โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) – ให้ข้อมูล  probe data และองค์ความรู้จากโครงการ
  • โตโยต้าถนนสีขาว เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน มุ่งเน้นการรณรงค์ ส่งเสริม พัฒนาทักษะจากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ที่เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ
  • มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ (TMF) – สนับสนุนเงินทุนและเทคโนโลยี รวมถึงการนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Probe Data, ข้อมูลที่บันทึกเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุ และข้อมูลอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ยังได้รับการสนันสนุนข้อมูลจากพันธมิตร ได้แก่

  • บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (RVP) – ให้การสนับสนุนข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในอดีตเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และปรับปรุงมาตรการความปลอดภัย

ระยะเวลาดำเนินโครงการและแนวทางการขยายผลในอนาคต

โครงการ TRUST จะเริ่มดำเนินการในดือนพฤษภาคม 2568 ถึง เดือนเมษายน 2570 (ระยะเวลา 2 ปี) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกันอุบัติเหตุที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ความสำเร็จและข้อมูลเชิงลึกจากโครงการ TRUST จะถูกนำเสนอในเวทีนานาชาติเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาความปลอดภัยบนท้องถนนในระดับสากลต่อไป

มร. ซูซูมุ มัตสึดะ ผู้อำนวยการมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ (TMF) กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ TRUST ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย โดยอาศัยการใช้ข้อมูลจากยานพาหนะร่วมกับการวิเคราะห์ขั้นสูง เรามุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมบนท้องถนนในกรุงเทพมหานครให้ ปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีความตั้งใจที่จะ ขยายรูปแบบโครงการนี้ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศไทยในอนาคต วิสัยทัศน์สูงสุดของเราคือการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นศูนย์ ด้วยพลังของ ความร่วมมือ และนวัตกรรมที่สร้างสรรค์”

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นวาระสำคัญสำหรับกรุงเทพมหานคร และเราต้องดำเนินมาตรการอย่างจริงจังเพื่อลดอุบัติเหตุและรักษาชีวิตผู้คน การจำกัดความเร็ว, ส่งเสริมการสวมหมวกกันน็อกในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และการปรับปรุงสภาพถนน ล้วนเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำให้ท้องถนนของเราปลอดภัยยิ่งขึ้น มาตรการเหล่านี้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการปกป้องผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน

นอกเหนือจากนโยบาย เรายังมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น ปรับปรุงทางข้ามถนน และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายจราจร การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ผู้ขับขี่ และประชาชนผู้ใช้ทางเท้า หากเราร่วมมือกัน กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นเมืองที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคน”

มร. ศรีนิวาสะ โปปุริ ผู้อำนวยการโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ สำนักงานกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “เมืองต่างๆ จำเป็นต้องเร่งความพยายามในการพัฒนาความปลอดภัยทางถนนอย่างเร่งด่วน ที่องค์การยูเอ็น-ฮาบิแทต เราเชื่อว่าการใช้ประโยชน์จากโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ จะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้เมืองมีความปลอดภัยและครอบคลุมมากขึ้น เช่น ความเร็วของยานพาหนะ ปริมาณการจราจร ประเภทของยานพาหนะ และสถานการณ์เสี่ยงที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุ

ศาสตราจารย์ ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “จากการดำเนินงานระยะแรกในจังหวัดฉะเชิงเทรา เราได้ใช้ข้อมูลจาก Probe Data ของยานพาหนะร่วมกับเทคโนโลยี AI ในการรวบรวมและวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุ ควบคู่ไปกับวิธีการดั้งเดิมที่ใช้กันในการศึกษาการเกิดอุบัติเหตุทางจราจร (RC – EXPAND) ซึ่งพบว่ามีข้อได้เปรียบหลายประการที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ หนึ่งในนั้นคือการมีข้อมูลที่ครอบคลุมระยะเวลานานกว่า ซึ่งแตกต่างจากการเก็บข้อมูลโดยมนุษย์ที่มักจำกัดอยู่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ อีกทั้งยังช่วยลดอคติจากการประเมินของมนุษย์ นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้ยังให้รายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับจราจร เช่น ความเร็วของยานพาหนะ ปริมาณการจราจร ประเภทของยานพาหนะ และสถานการณ์เสี่ยงที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุ”

“อย่างไรก็ตาม เรายังคงเผชิญกับความท้าทายบางประการในการเก็บรวบรวมข้อมูลประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ความรู้และความเชี่ยวชาญของผู้ใช้ข้อมูล อีกทั้งในระยะนี้ เรายังขาดข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การวิเคราะห์ครอบคลุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและความความคืบหน้าต่างๆ ของโครงการ TRUST กรุณาติดต่อ:

มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ (Toyota Mobility Foundation – TMF)

อีเมล : info@toyota-mf.org

 

- Advertisment -

Must Read