วันพุธ, กันยายน 18, 2024
spot_img
หน้าแรกAuto Newsสำรวจ EV Ecosystem ยานยนต์ไฟฟ้าไทย: นวัตกรรมและการพัฒนา EV ที่ควรรู้

สำรวจ EV Ecosystem ยานยนต์ไฟฟ้าไทย: นวัตกรรมและการพัฒนา EV ที่ควรรู้

-

กรุงเทพฯ 1 กุมภาพันธ์ 2567 – ปัญหาด้านมลพิษ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นปัจจัยเร่งให้รัฐบาลหลายประเทศหันมารณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนที่รถเครื่องยนต์สันดาป (ICE) กันมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ที่มาแรงและน่าจับตามอง รวมถึงเป็นแรงหนุนให้ฝั่งผู้ผลิตยานยนต์ต่างเร่งพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมอันทันสมัย เพื่อรองรับความต้องการการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเห็นได้ว่า ในประเทศไทยเฉพาะปี 2566 เพียงปีเดียว ก็สามารถทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศไปได้กว่า 77,684 คัน ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 555%

ด้วยแนวโน้มของผู้บริโภคที่หันมาที่ตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้ากันมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์หลายแห่งจึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันทันสมัย ทั้งภายนอกและภายในรถยนต์เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยปัจจุบันมีความคืบหน้าอะไรที่ผู้บริโภคควรรู้ ไปดูกัน

ประสิทธิภาพแบตเตอรี่

หนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญหลักที่อยู่เบื้องหลังขุมพลังของรถยนต์ไฟฟ้านั่นก็คือ แบตเตอรี่ที่เป็นขุมพลังหลักเช่นเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สันดาป ข้อมูลจาก Krungthai Compass ระบุว่า ระยะทางการขับขี่ที่ไกลขึ้นเป็นปัจจัยที่ช่วยให้คนตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์เครื่องยนต์ไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle: BEV) กันมากขึ้น โดยข้อมูลจาก International Energy Agency (IEA) ยังระบุว่า ในปี 2560 รถยนต์ BEV มีระยะทางขับขี่โดยเฉลี่ยต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง อยู่ที่ 243 กิโลเมตร และในปี 2561 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 280 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง จนถึงปี 2565 วิ่งได้ระยะทางเฉลี่ยเพิ่มเป็น 395 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 41% โดยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนนั้น มีการใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 42% เนื่องจากสามารถเก็บประจุไฟฟ้า (Energy Density) ได้มาก อยู่ที่ราว 50-260 Wh/kg จ่ายไฟได้เสถียร มีอายุการใช้งานนานกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น โดยสามารถรองรับเทคโนโลยี Fast Charge ส่วนใหญ่นั้นวิ่งได้ประมาณ 300-400 กิโลเมตร ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

แน่นอนว่าในปัจจุบัน ด้านของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเองก็ยังคงมีการพัฒนานวัตกรรมกักเก็บพลังงานอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยสโฟวล์ทเอเนอจี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ในเครือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ล่าสุดได้นำผลิตภัณฑ์แรกคือ ชุดแบตเตอรี่ SVOLT LCPT ออกจากสายการผลิตของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ SVOLT Energy Module Pack ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยเป็นชุดแบตเตอรี่ลิเธียม ไออน ฟอสเฟตมีความจุพลังงาน 60 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้มากกว่า 500 กิโลเมตร มีต้นทุนการผลิตต่ำ แต่มีประสิทธิภาพการใช้งานสูงและให้กำลังไฟฟ้าที่มาก ถือเป็นตัวเลือกที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทยใน
เซ็กเมนต์รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็ก (A Segment) โดยตั้งแต่มีนาคมปีนี้เป็นต้นไป สโฟวล์ท ได้วางแผนที่จะเริ่มใช้แบตเตอรี่ชุดประกอบในไทยกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น New GWM ORA Good Cat ที่เพิ่งมีการเปิดตัวและประกาศราคาออกจากสายการผลิตในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

นอกจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่พัฒนาขึ้น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวนยังส่งผลให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ และพิจารณารถยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เนื่องจากค่าพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้าต่อกิโลเมตร มีราคาถูกกว่ารถยนต์สันดาปถึง 4 เท่า เช่น หากปกติรถเครื่องยนต์สันดาปมีค่าน้ำมันเดือนละ 4,000 บาท เมื่อใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดเท่ากัน เราจะเสียค่าไฟฟ้าเพียงเดือนละไม่ถึง 1,000 บาทเท่านั้นในกรณีที่ชาร์จที่บ้านเป็นหลัก

ความคืบหน้าของสถานีชาร์จ

ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) พบว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 จำนวนสถานีชาร์จ EV ในไทย อยู่ที่ 2,222 แห่ง โดยเป็นจุดชาร์จ EV แบบกระแสสลับ (AC) ทั้งสิ้น 4,806 หัวจ่าย แบบกระแสตรง ประเภท DC CCS2 3,540 หัวจ่าย และแบบกระแสตรงประเภท DC CHAdeMO 356 หัวจ่าย รวมทั้งสิ้น 8,702 หัวจ่าย (ไม่รวมสถานีชาร์จสาธารณะที่ให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาใกล้เคียงกันของปี 2565 ณ วันที่ 20 กันยายน 2565 ประเทศไทยมีจำนวนหัวจ่ายรวมเพียง 2,572 หัวจ่าย โดยแบ่งเป็น แบบกระแสสลับ (AC) 1,384 หัวจ่าย แบบกระแสตรง ประเภท DC CCS2 942 หัวจ่าย และแบบกระแสตรงประเภท DC CHAdeMO 246 หัวจ่าย จากสถานีชาร์จเพียง 869 แห่ง จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งปี ประเทศไทยมีจำนวนสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นถึง 1,353 สถานี และมีจำนวนหัวจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 6,130 หัวจ่าย จากปีที่ผ่านมา ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของหัวจ่ายประเภท DC CCS2 ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2,598 หัวจ่าย หรือคิดเป็นการเติบโต 354% และในปัจจุบันเราได้เห็นทั้งการร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันวางโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบรับกระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม

โดยทางฝั่งของภาครัฐ กรมธุรกิจพลังงานมีแผนกำหนดกรอบการให้บริการติดตั้งสถานีชาร์จ EV และการลงนาม MOU กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ในปัจจุบันก็ยังได้เห็นการร่วมมือของภาคเอกชนในการขยายสถานีชาร์จ กระจายความทั่วถึงให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้าน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะหนึ่งในผู้เล่นของยานยนต์พลังงานใหม่ตระหนักถึงความต้องการเหล่านี้ พร้อมมุ่งมั่นในการขยายสถานีชาร์จเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ขับขี่ชาวไทย ได้มีการลงนามความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในการขยายและพัฒนาระบบของสถานีชาร์จให้ครอบคลุม รวมถึงได้มีการรวบรวมสถานที่ตั้งสถานีชาร์จทั่วประเทศเข้ามาอยู่ใน GWM application เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าชาวไทยอีกด้วย โดยจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ขยายการให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็ว (DC Fast Charge) รวมทั้งสิ้น 24 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็น สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก สระบุรี อุบลราชธานี นครราชสีมา ระยอง ชลบุรี จันทบุรี กระบี่ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต โดยบริษัทฯ มีแผนการดำเนินงานขยายเพิ่มอีกให้ครบ 71 สถานีชาร์จ ภายในปี 2567

สถานการณ์ความพร้อมของฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

จากกระแสความนิยมทำให้ค่ายรถหลายรายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะแบรนด์ผู้ผลิตจากจีนที่ถือเป็นผู้บุกเบิกยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า ล่าสุด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้เปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า New GWM ORA Good Cat จากโรงงาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จังหวัดระยอง โดยการเปิดสายการผลิตภายในประเทศนี้ ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายจำนวนมาก (Mass production) ตอบรับนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ

ในปี 2567 นี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ มีแผนที่ต้องผลิตชดเชยตามมาตรการ EV 3.0 จำนวนประมาณ 15,000 คันภายในปี 2568 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตประมาณ 8,000 คันในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เพิ่มอัตราจ้างงาน พร้อมฝึกอบรม พัฒนาทักษะการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านเทคนิคการผลิตรถยนต์ EV ให้กับพนักงานชาวไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งโรงงาน GWM Smart Factory แห่งนี้ถือเป็นโรงงานผลิตแบบเต็มรูปแบบแห่งที่สอง นอกประเทศจีนของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ และได้ผ่านการรับรอง มาตรฐานสากล ISO 9001 14001 และ 45001 เรียบร้อยแล้ว จึงเชื่อมั่นได้ว่ารถที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ได้คุณภาพภายใต้กระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่จะเป็นผู้นำด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (xEV Leader) พร้อมเดินหน้าส่งมอบรถยนต์ที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ควบคู่กับส่งมอบความสะดวกสบาย ไร้กังวล และสร้างความประทับใจตลอดการเดินทางถืงมือลูกค้าชาวไทยทุกคน

- Advertisment -

Must Read

“ซูซูกิ แครี่” ตอกย้ำบทบาทผู้นำ “ฟู้ดทรัค” เติบโตสวนทางตลาด สร้างโอกาสในช่วงวิกฤติ ชูความอเนกประสงค์ครบครัน ตอบโจทย์ธุรกิจที่หลากหลาย ล็อกเป้าเก็บเกี่ยวยอดขาย 4,200...

0
14 มีนาคม 2565-กรุงเทพมหานคร-ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ชูความอเนกประสงค์ของ ซูซูกิ แครี่ ตอกย้ำบทบาทผู้นำฟู้ดทรัคที่มีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสและร่วมขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิด-19 ในรูปแบบที่หลากหลาย สร้างอัตราเติบโตให้กับธุรกิจด้านการขนส่ง สอดรับการขยายตัวของธุรกิจออนไลน์ มั่นใจสมรรถนะที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน ตั้งเป้าเก็บเกี่ยวยอดขาย 4,200 คันในปีนี้ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการผลักดัน ซูซูกิ แครี่...