โรงงานฟอร์ดฉลอง ‘หลังคาโรงจอดรถแบบโซลาร์เซลล์’ ขนาดใหญ่ที่สุดในไทย

0
215
พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้จะเชื่อมต่อกับสถานีจ่ายไฟย่อย ทำหน้าที่แปลงพลังงานจากกระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ และจ่ายเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ภายในโรงงานเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ฟอร์ด

ระยอง ประเทศไทย, 13 ธันวาคม 2566 โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) ผู้ผลิตรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปจำหน่ายกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ร่วมกับบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ตรวจความพร้อมการเปิดใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 7.7 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ติดตั้ง 59,000 ตารางเมตร ผลิตพลังงานได้ 9 ล้านหน่วยต่อปี เทียบเท่ากับการใช้พลังงานไฟฟ้าของบ้านพักอาศัยถึง 2,700 หลังคาเรือน

“เราเลือกพื้นที่บริเวณลานจอดรถยนต์สำหรับเตรียมส่งมอบให้ลูกค้าที่รองรับการจอดรถได้กว่า 1,500 คัน เป็นพื้นที่ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพราะต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งนอกจากร่มเงาจากแผงโซลาร์เซลล์จะช่วยรักษาคุณภาพรถก่อนถูกจัดส่งไปยังผู้แทนจำหน่ายฟอร์ดทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของบริษัทฯ ได้ในระยะยาว” มร. วินโค้ ซาริค ผู้จัดการโรงงาน ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง กล่าว “ที่สำคัญ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศกว่า 5,720 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และพนักงานของเราได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและไม่ร้อนมากเกินไป”

โรงงานเอฟทีเอ็ม ได้รับความร่วมมือจาก WHAUP ในฐานะผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคและพลังงานชั้นนำในประเทศไทย เข้ามาลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 235 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่ลานจอดรถของโรงงานเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ติดตั้งนี้เป็นชนิดดับเบิล กลาส ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ Bifacial เป็นเทคโนโลยีที่สามารถรับแสงได้ทั้งด้านหน้า และด้านหลังแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งการรับแสงที่สะท้อนนั้นทำให้ได้พลังงานเพิ่มขึ้น 5-10% ปัจจุบันการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ โดยใช้เวลาการก่อสร้างรวม 400 วัน ปัจจุบันพร้อมทดสอบจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและดำเนินการขออนุญาตขนานไฟฟ้าในขั้นตอนต่อไป

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP เปิดเผยว่า “โครงการนี้นับเป็นการติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่ลานจอดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งเราได้มีการดูแลแบบครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ออกแบบ ลงทุน ก่อสร้าง ใบอนุญาต และดูแลบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญา ซึ่งการติดตั้งงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเป็นไปตามมาตรฐาน NEC2020 หรือ National Electrical Code (NEC) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าระดับโลกสำหรับระบบโซลาร์เซลล์ และเราคาดว่าจะพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาสแรกของปี 2567”

ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าภายในปี  พ.ศ. 2578 จะใช้พลังงานสะอาด 100% ในกระบวนการผลิตรถยนต์ทั่วโลก และเพื่อรองรับธุรกิจที่จะเติบโตในอนาคต โรงงานเอฟทีเอ็มกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆของโรงงาน

คำบรรยายภาพ

มร. วินโค้ ซาริค ผู้จัดการโรงงาน ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ซ้าย) และ นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (ขวา) ตรวจความพร้อมการเปิดใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 7.7 เมกะวัตต์ ที่โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) โดยจะพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาสแรกปี 2567
ลานจอดรถยนต์สำหรับเตรียมส่งมอบให้ลูกค้าที่โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) รองรับการจอดรถที่ผลิตเสร็จใหม่ได้กว่า 1,500 คัน นับเป็นหลังคาลานจอดรถยนต์ที่ติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้
ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 7.7 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ติดตั้ง 59,000 ตารางเมตร ผลิตพลังงานได้เฉลี่ยปีละประมาณ 9 ล้านหน่วย เทียบเท่ากับการใช้พลังงานไฟฟ้าของบ้านพักอาศัย 2,700 หลังคาเรือนในเวลา 1 ปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศกว่า 5,720 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 7.7 เมกะวัตต์ ติดตั้งด้วยแผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิล กลาส ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ Bifacial หรือการใช้โมดูลสองหน้า ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยเซลล์ด้านบนจะรับแสงอาทิตย์โดยตรง และเซลล์ทางด้านล่างจะรับแสงสะท้อนจากพื้น หรืออนุภาคต่างๆในอากาศ ช่วยให้ดักจับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ดีและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้จะเชื่อมต่อกับสถานีจ่ายไฟย่อย ทำหน้าที่แปลงพลังงานจากกระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ และจ่ายเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ภายในโรงงานเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ฟอร์ด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่