ยางมิชลินสำหรับรถยนต์นั่งซึ่งผลิตจากวัสดุที่ยั่งยืนในสัดส่วน 45% คว้ารางวัลนวัตกรรมยานยนต์ AutomotiveINNOVATIONS Award ประจำปี 2566 ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

0
95
  • ยางมิชลินสำหรับรถยนต์นั่งซึ่งผลิตจากวัสดุยั่งยืนในสัดส่วนสูงถึง 45% และผ่านการรับรองสำหรับใช้งานบนท้องถนนทั่วไป ได้รับรางวัลประเภท “ระบบช่วงล่าง ตัวถังรถ และอุปกรณ์ตกแต่งภายนอก” (Chassis, Car Body & Exterior)
  • โดยการใช้วัสดุที่ยั่งยืนเป็นกลยุทธ์ที่โดดเด่น ทั้งในด้านมาตรฐานระดับสูง, ขอบเขตการดำเนินงาน, มิติของการผสานพันธมิตร และวิสัยทัศน์ในภาพรวม
  • รางวัลนี้มอบให้เพื่อยกย่องความมุ่งมั่นของมิชลินในการที่จะผลิตยางล้อจากวัสดุยั่งยืน 100% ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายระยะกลาง (Interim Target) ที่จะใช้วัสดุยั่งยืนเพิ่มขึ้นในการผลิตยางล้ออีก 40% ภายในปี 2573

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ยางมิชลินสำหรับรถยนต์นั่งซึ่งผลิตจากวัสดุยั่งยืนในสัดส่วนสูงถึง 45% และผ่านการรับรองสำหรับใช้งานบนท้องถนนทั่วไป ได้รับรางวัลนวัตกรรมยานยนต์ AutomotiveINNOVATIONS Award ประจำปี 2566 ประเภท “ระบบช่วงล่าง ตัวถังรถ และอุปกรณ์ตกแต่งภายนอก” (Chassis, Car Body & Exterior) ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี  รางวัลดังกล่าวมอบให้โดยบริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PricewaterhouseCoopers: PwC) และศูนย์บริหารจัดการธุรกิจยานยนต์ (Center of Automotive Management: CAM) ซึ่งได้ทำการเฟ้นหานวัตกรรมที่โดดเด่นสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ร่วมกับผู้ผลิตและซัพพลายเออร์มาตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ โดยคณะกรรมการประกอบด้วยผู้มากประสบการณ์ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ แวดวงวิทยาศาสตร์และการให้คำปรึกษา ตลอดจนสื่อเฉพาะทาง (Specialized Media)

กลยุทธ์การใช้วัสดุที่ยั่งยืนของมิชลินมีความโดดเด่น ทั้งในด้านมาตรฐานระดับสูง, ขอบเขตการดำเนินงาน, มิติของการผสานพันธมิตร และวิธีดำเนินการที่ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์

การให้คำจำกัดความคำว่า “วัสดุที่ยั่งยืน” อย่างชัดเจน

ปัจจุบัน คำว่า “วัสดุที่ยั่งยืน” ยังไม่มีคำจำกัดความที่แน่ชัดเพียงหนึ่งเดียว การไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนนี้ส่งผลเสียต่อความเข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในภาคอุตสาหกรรมยางล้อ มิชลินเห็นว่า “วัสดุที่ยั่งยืน” คือวัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลหรือวัสดุหมุนเวียน (Renewable) ตลอดช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์  ด้วยเหตุนี้กลุ่มมิชลินจึงผลักดันให้เกิดฉันทามติของภาคอุตสาหกรรมยางล้อในการกำหนดคำจำกัดความที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับร่วมกันสำหรับคำว่า “วัสดุที่ยั่งยืน”

วิสัยทัศน์กว้างไกลเกี่ยวกับ “วัสดุที่ยั่งยืน” ถูกนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทของกลุ่มมิชลิน

มิชลินตั้งเป้าที่จะดำเนินกลยุทธ์การใช้วัสดุที่ยั่งยืนกับผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มประเภท…ไม่ใช่เพียงผลิตภัณฑ์ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือบางกลุ่มผลิตภัณฑ์เท่านั้น การนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาปรับใช้จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงลึกด้านวิธีดำเนินการ เครื่องมือ และกระบวนการทางอุตสาหกรรม  พูดกว้างๆ ก็คือ จำเป็นต้องมีการจัดตั้งภาคส่วนหรือห่วงโซ่คุณค่าใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนด้านอุตสาหกรรม  วิสัยทัศน์นี้ไม่เพียงมีความโดดเด่นเหนือกว่าในเชิงขอบเขตการดำเนินงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมยางล้อ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของกลุ่มมิชลินที่จะปรับปรุงการออกแบบและการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขนานใหญ่เพื่อปกป้องพิทักษ์ผืนโลกเอาไว้

มิติของการผสานพันธมิตรอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อเร่งให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

กลุ่มมิชลินตระหนักดีว่าการพัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยทักษะใหม่ ๆ จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการผสานพันธมิตรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้การพัฒนาเทคโนโลยีล้ำหน้า…โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแปรสภาพและการรีไซเคิล…ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว  พันธมิตรเหล่านี้ ได้แก่ ‘ไพโรเวฟ’ (Pyrowave) ในการผลิตสไตรีนจากการรีไซเคิล (r-styrene), ‘คาร์ไบโอส์’ (Carbios) ในการผลิตพลาสติก PET จากการรีไซเคิล (r-PET), ‘เอ็นไวโร’ (Enviro) ในการพัฒนาคาร์บอนแบล็กจาก
การรีไซเคิล (rCB)  รวมทั้งกับ ‘ไอเอฟพี เอเนอจีส์ นูเวลล์ส’ (IFPEN) และ ‘แอคเซนส์’ (Axens) ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของฝรั่งเศส (ADEME) ในการผลิตบิวทาไดอีนจากชีวมวล (Bio-Butadiene)  นอกจากนี้ มิชลินยังร่วมดำเนินโครงการ ‘อองแพรงท์’ (Empreinte)* กับหน่วยงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของฝรั่งเศส (ADEME) และจัดตั้งโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ‘แบล็คไซเคิล’ (BlackCycle) และ ‘ไวท์ไซเคิล’ (WhiteCycle) ร่วมกับพันธมิตรสัญชาติยุโรปหลายราย โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อแปรสภาพยางล้อที่สิ้นสุดอายุการใช้งานแล้วให้กลายเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงพิเศษสำหรับใช้ในการผลิตยางล้อใหม่

วิธีดำเนินการที่ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์

เพื่อนำตัวแปรต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบของยางล้อต่อสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาอย่างรอบด้าน กลุ่มมิชลินได้ดำเนินการแบบ 360 องศาบนฐานการวิเคราะห์วัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบไปจนถึงโซลูชั่นด้านการรีไซเคิลรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้กรอบของการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความพยายามดังกล่าวจึงส่งผลเหนือกว่าเพียงพัฒนาและนำวัสดุที่ยั่งยืนมาใช้ในการผลิตยางล้อ โดยยังมุ่งเป้าที่จะนำไปปฏิบัติในทุกระดับการดำเนินงานแต่ละขั้นของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ (ได้แก่ การออกแบบ, การผลิต, การขนส่ง, การใช้งาน และการสิ้นสุดอายุผลิตภัณฑ์)

รางวัลที่มอบให้เพื่อยกย่องความมุ่งมั่นของมิชลินในการที่จะผลิตยางล้อจากวัสดุยั่งยืน 100% ภายในปี 2593  โดยมีเป้าหมายระยะกลาง (Interim Target) ที่จะใช้วัสดุยั่งยืนเพิ่มขึ้นในการผลิตยางล้ออีก 40% ภายในปี 2573

ยางมิชลินซึ่งผลิตจากวัสดุยั่งยืนในสัดส่วน 45% เปิดตัวเมื่อปี 2565 โดยมาพร้อมเทคโนโลยีล้ำหน้าซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของยางมาตรฐานในปี 2568  การเปิดตัวยางรุ่นนี้ช่วยให้มิชลินสามารถรุกก้าวไปสู่การพัฒนาวัสดุยั่งยืนใหม่ ๆ ที่หลากหลายในปริมาณมาก ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมของมิชลิน ตลอดจนย่างก้าวที่ผ่านมาของกลุ่มมิชลินบนจุดยืนความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการผลิตยางล้อในระดับโลกจากวัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียน 100% ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายระยะกลางที่จะใช้วัสดุยั่งยืนเพิ่มขึ้นในการผลิตยางล้ออีก 40% ภายในปี 2573

มร.เอริค ไวเนสส์ (Eric Vinesse) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารกลุ่มมิชลิน เปิดเผยว่า “มิชลินมีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุที่ล้ำสมัย ทั้งยังมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาซึ่งประกอบด้วยวิศวกร นักวิจัย นักเคมี และนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ราว 6,000 คนทั่วโลก เป็นฐานผลักดันให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้สูงมากได้  รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้จึงถือเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจสำหรับทีมงานทุกทีม

คลิกเพื่อชมรูปภาพและคลิปวิดีโอได้ที่:

https://contentcenter.michelin.com:443/portal/shared-board/dc33304b-9083-4de6-998c-d5656b4d1070

* โครงการ ‘อองแพรงท์’ (Empreinte) ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลฝรั่งเศสในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนเพื่ออนาคต โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการลงทุน France 2030 และดำเนินการโดยหน่วยงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของฝรั่งเศส (ADEME)

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่