ฟอร์ดรับรางวัล ‘องค์กรรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจพร้อมใส่ใจดูแลสังคม

0
546

กรุงเทพฯ ประเทศไทย, 23 พฤศจิกายน 2565 – ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี รับรางวัลองค์กรรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น ระดับแพลตทินัม (AMCHAM Corporate Social Responsibility Excellence Recognition Award at Platinum Level) จากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย โดยฟอร์ดได้รับรางวัลองค์กรรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่นติดต่อกันเป็นปีที่ 12 จากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีนายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย รับมอบรางวัลจาก มร. โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และมร. เจฟฟรีย์ ไนการ์ด ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ประธานในพิธีการมอบรางวัล

ฟอร์ดให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมๆ กับสร้างความแข็งแกร่งในชุมชนที่ฟอร์ดดำเนินธุรกิจอยู่ ตามนโยบายฟอร์ดพลัสในเรื่องการใส่ใจดูแลกันและกัน (Care For Each Other)  โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในหลากหลายมิติ อาทิ โครงการ ‘Ford Driving Skills for Life’ ฉลาดขับ ประหยัด ปลอดภัย’ เพื่อเพิ่มทักษะการขับขี่อย่างถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ผู้ขับขี่ชาวไทยผ่านการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในสถานการณ์เสมือนจริงที่ฟอร์ดดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 15 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้ารับการอบรมแล้วกว่า 13,993 คน

ฟอร์ดยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยได้ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ พีดีเอดำเนินโครงการ ‘Water Go Green’ การจัดการน้ำพลังงานแสงอาทิตย์’ ต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 7 รวมถึงการจัดโครงการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ Ford+ Innovator Scholarship เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้เป็นนวัตกรรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ฟอร์ดได้จัดตั้งศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพันธกิจระยะยาวที่ฟอร์ดมุ่งมั่นมอบให้แก่ชุมชนในประเทศไทยด้วยการผนึกกำลังกับองค์กรเพื่อสังคมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยในปีนี้ ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ดำเนินงานในประเทศไทยมาครบ 3 ปี และฟอร์ดยังมีโครงการฝึกอบรมสร้างอาชีพ ‘Ford Regenerating Life’ ฟอร์ดฟื้นฟูชีวิต ที่มุ่งเน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และเพิ่มโอกาสในการหารายได้และการพึ่งพาตนเองของกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในสังคมไทยต่อเนื่อง โดยในปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่ฟอร์ดจัดโครงการ และได้ส่งมอบองค์ความรู้ให้แก่ 300 ครัวเรือนใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ

ฟอร์ดยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการความหลากหลายเพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยฟอร์ดมีการจัดตั้งกลุ่ม ‘Women in Manufacturing’ ซึ่งเป็นพื้นที่ให้พนักงานหญิงที่ทำงานในโรงงานร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพสู่ความสำเร็จ และยังได้ทำงานร่วมกับองค์กรเพื่อสังคมต่างๆ ในการออกแบบปรับปรุงสาธารณูปโภคในพื้นที่สาธารณะให้มีความเป็นมิตรเข้าถึงง่ายแก่ทุกคน โดยเฉพาะผู้พิการ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่