อย่าลืมนึกถึง “Silver Gen นักช้อปที่กำลังถูกลืม” การศึกษาชิ้นใหม่โดย วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย พบว่านักช้อปรุ่น Silver Gen กลายเป็นกลุ่มที่ถูกลืมและละเลย แต่พวกเขากำลังเบ่งบาน เป็นคนรุ่นที่มีใจเป็นอิสระ มีทั้งเงินและเวลามากที่สุด ตลาดของกลุ่ม Silver Gen กำลังเติบโตและเป็นโอกาสทางธุรกิจสำคัญของทุกๆ แบรนด์

0
1120

กรุงเทพฯ (14 ธันวาคม 2564) – ผลการศึกษาเรื่อง “นักช้อปที่ถูกลืม 2021” (Forgotten Shopper 2021) ในประเทศไทย    โดย วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย พบว่าแบรนด์ นักการตลาด และผู้โฆษณา ต่างเฮโลกันสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z และมิลเลนเนียลกันอย่างมากมายในช่วงปีหลังๆ นี้ จนผู้บริโภครุ่นอายุก่อนหน้าอาจรู้สึกถูกมองข้ามหรือหมางเมิน แบรนด์ลืมไปแล้วว่าไม่ได้มีเพียงผู้บริโภครุ่น Gen Z และมิลเลนเนียลเท่านั้นที่มีเงินและศักยภาพในการใช้จ่าย ที่จริงแล้วคนรุ่นอาวุโสกำลังค้นหาความสุขในช่วงชีวิตวัยหนุ่มสาวของพวกเขาอีกครั้ง มีเวลาที่จะหาความสุขได้อย่างเต็มที่ และมีกำลังซื้อสูงไม่แพ้ผู้คนในรุ่นอายุน้อยกว่าอีกด้วย

กลุ่มประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยกำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สถานะสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2564 ประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นจนมีมากกว่า 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 17% ของประชากรทั้งประเทศ การศึกษาจากหลายแหล่งได้เคยแตะประเด็นความท้าทายของการที่อายุของประชากรมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น แต่มีไม่กี่แหล่งเท่านั้นที่ได้สำรวจตรวจสอบอย่างแท้จริงจนถึงขั้นที่มองเห็นเซ็กเมนท์ซึ่งได้รับความใส่ใจน้อยที่สุด อย่างเช่นคนรุ่น50+ หรือ Silver Generation แบรนด์พากันพุ่งความสนใจอย่างมากมายไปที่คนในรุ่นอายุน้อยกว่า มุ่งตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของพวกเขาเป็นหลัก และมักจะมองข้ามชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่จริงแล้วกลุ่ม Silver Gen และกำลังซื้อของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากพวกเขากระตือรือร้นกับการเสาะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อีกทั้งภาวะของการสูงวัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเนื่องจากช่วงชีวิตของคนที่ยืนยาวยิ่งขึ้นและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ

Forgotten Shopper เป็นส่วนหนึ่งของ ฟิวเจอร์ ช้อปเปอร์ 2021 (Future Shopper 2021) การศึกษาชุดที่ 3 ในซีรีส์ Future Pulse Survey ของวันเดอร์แมน ธอมสัน ซึ่งเป็นการศึกษาตลาดธุรกิจพาณิชย์ทั่วโลก โดยวันเดอร์แมน ธอมสัน ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 28,000 คนในกลุ่ม Silver Gen อายุ 50 ปีขึ้นไปทั้งเพศชายและหญิงใน 17 ประเทศทั่วโลก       และมุ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการวิเคราะห์และทำความเข้าใจกับอุปนิสัยในการจับจ่าย ความชื่นชอบ และพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ค้นหาคำตอบว่าพวกเขาปรับตัวเข้าหาช่องทางออนไลน์อย่างไรเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นในช่วงที่เกิดโรคระบาด และคิดว่าจะมีวิธีการจับจ่ายอย่างไรและที่ไหนในอนาคต ซึ่งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทั่วโลก Forgotten Shopper 2021 ในไทยได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคชาวไทยทั่วประเทศ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างในการทำสำรวจทั้งในเชิงปริมาณและการสัมภาษณ์เชิงลึกรวม 350 คนที่เป็นคนสัญชาติไทยอายุ 45 – 65 ปี แบ่งเป็นเพศชาย 50% และเพศหญิง 50%

“ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่านักช้อป Silver Gen เป็นคนรุ่นที่มีพลังขับเคลื่อนและมีอิทธิพลต่อตลาดสูงที่สุดรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว พวกเขามีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกในปัจจุบันอย่างมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะได้รับความสนใจมากเทียบเท่ากับกลุ่มมิลเลนเนียลเสมอไป” มัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย กล่าว “ชาว Silver Gen เป็นกลุ่มที่แบรนด์ นักการตลาด และผู้โฆษณา มักจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและละเลยพวกเขาไป การศึกษาเรื่อง Forgotten Shopper 2021 ของไทยใน 4 แง่มุม คือ วิธีคิดและการรับรู้, ครอบครัวและชีวิตทางสังคม, สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี, ชีวิตเกษียณและการเงิน และ เทคโนโลยีและสื่อ จะช่วยให้แบรนด์ในประเทศไทยสามารถนำข้อมูลเชิงลึกอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับตลาดเมืองไทยเหล่านี้มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกลยุทธ์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ และวางแผนการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันออกไปตามรุ่นและกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน”

วิธีคิดและการรับรู้: หนุ่มๆ สาวๆ ที่รัก คนที่อายุเกิน 50 ไม่ได้เป็นมนุษย์ป้า-มนุษย์ลุงกันทุกคนหรอกนะ

ช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปถือว่าเป็นวัยผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะสูง ได้ผ่านเหตุการณ์ในช่วงชีวิตต่างๆ มามากมาย ตั้งแต่การสร้างครอบครัว การทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว และกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมจรรโลงสังคม พวกเขาได้ใช้เวลาครึ่งชีวิตเพื่อสร้างรากฐานและความมั่นคงให้กับลูกหลานของตน และในที่สุดก็ถึงเวลาที่จะมอบรางวัลให้ตัวเองสำหรับหยาดเหงื่อแรงงานที่ได้เคยทุ่มเทลงไป       พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างสาแก่ใจ พาตนเองเดินหน้าสู่หลักชัยสำคัญต่างๆ และหลังจากทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความสำเร็จมานานหลายสิบปี วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะใช้ชีวิตให้ช้าลง พักผ่อน และมีความสุขกับชีวิต การที่พวกเขามีอายุมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่สนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่เปิดรับความคิดใหม่ๆ อีกต่อไป หรือจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเลี้ยงดูหลานๆ และกลายเป็นคนไร้เหตุผลหรือมีข้อเรียกร้องต่างๆ มากมาย

สรุปประเด็นเรื่องวิธีคิดและการรับรู้ของคนกลุ่ม Silver Gen

  • หัวใจยังมีไฟอยู่: ผู้อาวุโสอาจมีสภาพร่างกายที่ผ่านกาลเวลามานานกว่า แต่ความนึกคิดและจิตใจของพวกเขายังอยู่ในช่วงวัย 30 กว่าๆ เท่านั้น
  • ใช้ชีวิตให้เต็มที่: ชาว Silver Gen มีเวลา มีเงิน และมีอิสระที่จะเข้าสังคมและใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้มากว่าคนรุ่นอื่นๆ ในปัจจุบัน!
  • ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเปิดโลกทัศน์ของตนเองให้กว้างไกลยิ่งขึ้น: การที่ชาว Silver Gen เชื่อในวัฒนธรรมและประเพณีไม่ได้หมายความว่าพวกเขาล้าสมัยหรือตกเทรนด์ ผู้ใหญ่รุ่นอาวุโสอาจจะไม่กล้าได้กล้าเสียเท่ากับคนรุ่นอายุน้อยกว่าเนื่องจากมีโอกาสเกิดความสูญเสียในด้านต่างๆ ได้ แต่พวกเขายังคงมีความสนใจและชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และคอยติดตามเทรนด์ใหม่ๆ ในยุคสมัยปัจจุบันอยู่เสมอ

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงวัย แบรนด์จะต้องก้าวข้ามทัศนคติเหมารวมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์และโอกาสใหม่ๆ และพุ่งความสนใจไปที่ความต้องการและสิ่งที่เป็นความสนใจของผู้บริโภคอย่างเต็มที่ แทนที่จะคำนึงถึงอายุของพวกเขา

สิ่งที่แบรนด์ควรทำ

  • การเติบโตของแบรนด์ไม่ได้มาจากคนรุ่นอายุน้อยๆ เท่านั้น
  • การทำตลาดของแบรนด์ไม่ควรมุ่งไปที่คนรุ่นใดเพียงรุ่นเดียว การขับเคลื่อนการเติบโตผ่านการสร้างแบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคหลากหลายรุ่นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง กลุ่ม Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสามารถสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ได้เช่นกัน ซึ่งแบรนด์สามารถออกแบบวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วนเพื่อพวกเขาได้
  • การสื่อสารและงานโฆษณาของแบรนด์ส่วนมากจะพุ่งเป้าไปที่คนรุ่นอายุน้อยกว่า และมักจะมองข้ามหรือละเลยกลุ่ม Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • แบรนด์ต้องตระหนักมากขึ้นว่าชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสามารถเริงร่ากับการใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระโดยไม่ต้องกังวลเรื่องลูก ครอบครัว หรือแรงกดดันและความเครียดเรื่องงาน
  • ปรับมุมมองของแบรนด์ใหม่ มองชาว Silver Gen ว่า Young at Heart
  • แบรนด์ต้องปรับเปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับผู้สูงวัยเสียใหม่ มองเห็นพวกเขาเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังใช้ชีวิตอย่างเริงร่ากว่าที่เคย มีสิ่งที่คิดจะทำมากมาย และไม่แยแสว่าใครจะมองพวกเขาอย่างไร
  • แบรนด์มีโอกาสเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงอย่างชาว Silver Gen ได้โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นตามความต้องการ ความสนใจ และเอื้อให้พวกเขาได้สนุกกับใช้ชีวิตและมีสุขภาพที่ดีต่อเนื่องต่อไป
  • นอกจากนี้ แบรนด์ควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงให้คนรุ่น Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปได้เห็นด้วยว่าพวกเขาเป็นผู้บริโภคที่มีส่วนในการผลิต (Prosumer) และเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์ที่สร้างขึ้นโดยผู้ใช้งาน (User Generated Content – UGC)
  • องค์ความรู้มากมายจากประสบการณ์ของชาว Silver Gen
    • เปลี่ยนทัศนคติเหมารวมและสมมุติฐานในแง่ลบที่มีต่อผู้อาวุโสว่าพวกเขามีข้อเรียกร้องมากมายไร้เหตุผล และนำเสนอด้านอื่นๆ ที่เป็นพลังบวกของชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
    • ผู้ใหญ่วัยอาวุโสมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับผู้คนมากมายในสังคม

ครอบครัวและชีวิตทางสังคม: เราไม่เคยมองว่าการดูแลลูกๆ เป็นการลงทุน ที่จริงแล้วเรายังคงคอยเกื้อหนุนพวกเขาอยู่เสมอ

สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ครอบครัวถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตทางสังคม ผู้สูงวัยเป็นบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวชาวไทยซึ่งผู้ที่อ่อนวัยกว่าจะถือว่าพ่อแม่และผู้สูงวัยเป็นผู้มีพระคุณอย่างสูง และชาวไทยยังยึดถือธรรมเนียมว่าลูกจะต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาแสดงให้เห็นว่าชาว Silver Gen   ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปยังเป็นที่พึ่งพาและเป็นผู้ดูแลครอบครัว คนส่วนใหญ่ในรุ่นนี้ คิดเป็นสัดส่วน 75% ยังคงต้องทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวและช่วยเลี้ยงดูเด็กๆ และในหลายกรณี ผู้ที่มาจากชนบทจะเป็นผู้เลี้ยงดูหลานๆ ในขณะที่ลูกๆ ของพวกเขาที่เป็นผู้ใหญ่แล้วจะทำงานเต็มเวลาในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ซึ่งในกรณีเหล่านี้การศึกษาชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 44% ยังให้คงอุ้มชูครอบครัวในเรื่องเงินและยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

ชาว Silver Gen มีรายได้โดยเฉลี่ยเทียบเท่ากับค่าแรงต่อเดือนของประเทศไทย โดย 50% มีรายได้ 10,000 – 25,000 บาทต่อเดือน และรายได้ของพวกเขาไม่ได้สูงกว่าคนในรุ่นอื่นๆ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ผู้อาวุโสส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เงินจุนเจือจากลูกๆ ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้พวกเขายังใช้ชีวิตที่สมดุลและมีเวลาอย่างเหลือเฟือ จากผู้ตอบแบบสอบถาม 83% ชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปยังคงเข้าสังคมอย่างกระตือรือร้นและติดต่อกับผู้อื่นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในขณะที่มีอายุมากขึ้น พวกเขาชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศและการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย

สรุปประเด็นเรื่องครอบครัวและชีวิตทางสังคมของคนกลุ่ม Silver Gen

  • ธนาคารของครอบครัว: กล่าวโดยทั่วไป ชาว Silver Gen ยังคงเป็นผู้ลงทุนหลักอันดับ 1 ของครองครัว พวกเขายังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมอย่างสูงในการซื้อของลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นรถคันแรกหรือการช่วยออกเงินดาวน์เพื่อซื้อบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่วัยสูงอายุยังกลายเป็นผู้ช่วยกู้สถานการณ์ทางการเงินในยามฉุกเฉินอีกด้วย เช่นในกรณีที่ลูกๆ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเฉพาะหน้า เป็นต้น
  • หนึ่งในผู้ตัดสินใจหลัก: การซื้อหลายๆ อย่างในบ้านยังคงอยู่ภายใต้การชี้นำหรือการตัดสินใจของผู้ใหญ่วัยสูงอายุ
  • สัมผัสทางกายมีความสำคัญ: ชาว Silver Gen ให้ความสำคัญกับการสัมผัสทางกายและสื่อสารกับแบบพบหน้ามากกว่าการติดต่อแบบดิจิทัล อย่างไรก็ตาม มีพื้นที่ชุมชนจำนวนไม่มากนักที่สามารถตอบสนองความจำเป็น ความต้องการ และความปรารถนาของพวกเขา

สิ่งที่แบรนด์ควรทำ

  • ชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปคือหนึ่งในผู้ตัดสินใจหลักและผู้ซื้อ
  • ชาว Silver Gen ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้จุนเจือครอบครัวและดูแลภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใช้ประจำวันต่างๆ หรือการมีส่วนร่วมอย่างสูงกับการซื้ออื่นๆ ที่เป็นเงินก้อนใหญ่
  • แบรนด์สามารถมีบทบาทในการช่วยเตรียมความพร้อมและร่วมวางแผนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทั้งในด้านสังคม สุขภาพ และการดำเนินชีวิต
  • แบรนด์ควรศึกษาและประเมินผลกระทบของการเข้าถึงบริการทางสังคมต่างๆ ที่อาจช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยได้
  • พลังขับเคลื่อนตลาดของกลุ่มคนวัย 50 ปีขึ้นไป
  • ชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปคือผู้ซื้อคนสำคัญของครอบครัว ในขณะที่ผู้ใช้มักจะเป็นคนในรุ่นอายุน้อยกว่า
  • แบรนด์จำเป็นต้องวางแผนการเสนอขายตลอดจนเส้นทางการซื้อของตน เพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายในรุ่นต่างๆ
  • สร้างพื้นที่ชุมชนเพื่อชาว Silver Gen
  • แบรนด์มีโอกาสที่จะจับมือกับพื้นที่ชุมชนต่างๆ ตลอดจนอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์ใหม่ๆ เพื่อให้บริการแก่ผู้คนในเซ็กเมนท์นี้
  • อีกบทบาทหนึ่งที่แบรนด์สามารถทำได้คือ ส่งเสริมการก่อตั้งสมาคมหรือศูนย์ผู้สูงวัย เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและงานต่างๆ ณ ชุมชนในพื้นที่

สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี: ฉันไม่ต้องการดูเด็กเหมือนอายุ 25 แต่ฉันอยากเป็นผู้หญิงอายุ 56 ที่สวยสมวัย

การสูงวัยอย่างกระฉับกระเฉง (Active Aging) คือกระบวนการสร้างภาวะที่เหมาะสมที่สุดที่จะเอื้อให้เกิดโอกาสต่างๆ ในด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในขณะที่คนเรามีอายุเพิ่มมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าผู้สูงวัยใช้ชีวิตตามแนวทาง Active Aging เมื่อพวกเขาสนุกกับการรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงและความกระฉับกระเฉงของร่างกาย        ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นและมีความสุขมากขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 79% ระบุว่าพวกเขาให้ความใส่ใจกับสุขภาพร่างกายมากกว่าสุขภาพจิต ซึ่งโดยทั่วไปชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปชอบเดินหรือจ๊อกกิ้งมากที่สุด ตามมาด้วยการปั่นจักรยานและการฝึกโยคะ สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การประเมิน การตรวจคัดกรอง และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้แต่เนิ่นๆ สามารถป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบหากมีโรคภัยใดๆ แฝงอยู่ ถึงกระนั้นก็ตาม      การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอยังคงไม่ใช่สิ่งที่คนในรุ่นนี้ถือปฏิบัติเป็นปกติ การศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 60% เข้ารับการตรวจสุขภาพเพียงปีละครั้งหรือเมื่อรู้สึกไม่สบายเท่านั้น ซึ่งปัญหาสุขภาพและโรคที่พบได้บ่อยและสร้างความกังวลให้คนรุ่นนี้มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง

แม้ว่าระบบภูมิคุ้มกันของคนเราจะอ่อนแอลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีวิธีการบางอย่างที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยย้อนเวลาให้กับระบบภูมิคุ้มกันได้ อาทิ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินเป็นประจำทุกวัน ดังนั้นผู้ตอบแบบสอบถาม 57% จึงรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกวัน โดยเหตุผล 3 อันดับแรกได้แก่ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อสุขภาพกระดูกที่ดี และเพื่อการชะลอวัย นอกจากนี้สุขภาพจิตยังเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การมีจิตใจที่สงบเย็นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และกิจกรรมที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ จะช่วยคงสุขภาวะทางจิตที่ดีเอาไว้ได้ ซึ่งภาวะทางจิตเช่นนี้มีความเชื่อมโยงกับศาสนาและงานอดิเรกโดยธรรมชาติ ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยพบว่า การเข้าวัดช่วยทำให้จิตใจของพวกเขาสงบได้มากที่สุดในขณะที่พวกเขาพยายามก้าวให้ทันโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว

สรุปประเด็นเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนกลุ่ม Silver Gen

  • อายุมากน้อยอยู่ที่ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง: ชาว Silver Gen ในวัย 50 ปีขึ้นไปยังคงรู้สึกว่าร่างกายและจิตใจสมบูรณ์แข็งแรงขึ้นกว่าที่เคย
  • สร้างสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจอย่างสมดุล: การรักษาสมดุลที่ดีระหว่างสุขภาพร่างกายและจิตใจคือกุญแจสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งการได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และร่วมกิจกรรมยามว่างที่สนุกสนาน คือสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับผู้ใหญ่วัยสูงอายุ
  • สุขภาพและความงามย้อนกลับไม่ได้: ชาว Silver Gen ไม่ได้อยากจะดูเด็กเสมอไป แต่กุญแจสำคัญคือต้องการรู้สึกอ่อนวัยและสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
  • ปลูกสร้างการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี: การตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ และการป้องกัน คือกุญแจสำคัญในการเพาะเลี้ยงพลังชีวิตเพื่อสุขภาพและความมีชีวิตชีวาในระยะยาว ช่วยให้ผู้ใหญ่วัยสูงอายุทำในสิ่งที่ชื่นชอบต่อไปได้เรื่อยๆ

สิ่งที่แบรนด์ควรทำ

  • สุขภาพร่างกาย
  • สุขภาวะทางกายมีความสำคัญต่อผู้อาวุโสและผู้ใหญ่ที่เข้าสู่วัยสูงอายุ ดังนั้นแบรนด์จึงสามารถเจาะตลาดใน เซ็กเมนต์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพได้ เช่น วิตามิน โรงพยาบาล ประกัน ฯลฯ
    • แบรนด์ควรจะนำเสนอแง่มุมที่ว่า การดูแลร่างกายให้แข็งแรงและมีสุขภาวะที่ดี คือวิธีที่คนรุ่นอาวุโสจะสามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่มากยิ่งขึ้น แทนที่จะนำเสนอภาพของพวกเขาในฐานะคนที่ “แก่” และ “ต้องพึ่งพาผู้อื่น”
  • สุขภาพจิตใจ
  • แบรนด์ยังสามารถเจาะตลาดกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงทางจิตใจ เช่น เกมในรูปแบบแอปพลิเคชั่นง่ายๆ ซึ่งผสานทั้งผลิตภัณฑ์ เกมตอบคำถาม การเรียนรู้ เกร็ดความรู้ต่างๆ ฯลฯ ไว้ด้วยกัน หรือกิจกรรมทางดนตรีผ่านเพลย์ลิสต์เพลงจากวันวานทาง YouTube และ Spotify และกิจกรรมพบปะกันของชุมชนคนวัน 50 ปีขึ้นไป ซึ่งจะช่วยตอบสนองความจำเป็น ความต้องการ และความปรารถนาต่างๆ เพื่อสุขภาวะใจกายและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา

ชีวิตเกษียณและการเงิน: ชีวิตเกษียณไม่มีอยู่จริง มันคือการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการทำงาน

ชาว Silver Gen เชื่อว่าการที่พวกเขามีอายุมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าชีวิตของพวกเขาหรือสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่จะเปลี่ยนแปลงไปในทันที และค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ การรับรู้ และการให้ของพวกเขาก็เช่นกัน พวกเขายังเป็นคนคนเดิมเช่นเดียวกับที่เคยเป็นเมื่ออายุยังน้อยกว่านี้ พวกเขาจึงไม่เชื่อว่าชีวิตเกษียณมีอยู่จริง ชาว Silver Gen ส่วนใหญ่ คิดเป็น 71% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีชีวิตอยู่เพื่อทำงานและทำงานเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และไม่ต้องการหรือมีการวางแผนเกษียณ ที่จริงแล้วบางคนไม่สามารถเกษียณได้เนื่องจากมีพันธะทางการเงินและยังจำเป็นต้องจุนเจือครอบครัว นี่คือสิ่งที่บอกเป็นนัยว่าคนที่เป็นหลักในการเลี้ยงดูครอบครัวมักจะเป็นผู้ใหญ่สูงวัยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเลยช่วงอายุที่หลายๆ แบรนด์วางให้เป็นกลุ่มเป้าหมายและมุ่งเน้นเป็นหลัก

แม้จะมีอายุล่วงเลยเข้าใกล้ช่วงวัยเกษียณ แต่ชาว Silver Gen ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปหลายๆ คนกลับไม่มีแผนการลงทุน ซึ่งอาจเป็นเพราะเงินส่วนที่น่าจะเป็นทุนสำหรับชีวิตเกษียณของพวกเขาบางส่วนมีการนำไปดูแลลูกๆ และสมาชิกในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พวกเขารู้สึกค่อนข้างมั่นใจกับอนาคตของตนเองแม้ว่าจะไม่มีแผนการลงทุน เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองยังมีเวลาทำงานต่อไปอีกมากเพื่อเดินหน้าสร้างสิ่งที่ได้เริ่มเอาไว้แล้วและสร้างรายได้ต่อไป ดังนั้นจึงมีโอกาสทางธุรกิจมากมายให้แบรนด์สร้างการมีส่วนร่วมของชาว Silver Gen ได้ เพราะพวกเขายังคงทำงานอย่างแข็งขันและเป็นลูกค้าที่ทรงคุณค่า ในอีกด้าน ผู้ที่วางแผนการลงทุนเอาไว้แล้วจะซื้อสินทรัพย์แบบเดิมๆ เช่น ทองคำและอสังหาริมทรัพย์ ชาว Silver Gen ไม่สะดวกใจที่จะลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการที่จับต้องไม่ได้ พวกเขารู้สึกสบายใจกว่าที่จะใช้เงินของตนกับการลงทุนที่จับต้องได้ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง

สรุปประเด็นเรื่องชีวิตเกษียณและการเงินของคนกลุ่ม Silver Gen

  • ชีวิตเกษียณไม่มีอยู่จริง: ชาว Silver Gen ไม่มีแผนสำหรับชีวิตวัยเกษียณและไม่สนใจจะเกษียณตัวเองก่อนกำหนด พวกเขาต้องการทำงานจุนเจือครอบครัวของพวกเขาและมีส่วนช่วยหารายได้เข้าบ้านต่อไป
  • ชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปมีบทบาทสำคัญในครอบครัว: ในหลายๆ กรณี ผู้อาวุโสคือคนที่เป็นหลักในการหารายได้ของครอบครัว ดังนั้นพวกเขาจึงมีกำลังซื้อสูงและเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินใจหลักของครอบครัว
  • ช่องว่างในการวางแผนการลงทุน: เป็นเรื่องน่าสนใจที่ชาว Silver Gen ส่วนใหญ่ไม่ได้มีแผนการลงทุนเตรียมพร้อมไว้แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของแบรนด์ด้านการเงินที่จะเจาะตลาดได้
  • การลงทุนความเสี่ยงต่ำ: ชาว Silver Gen ชอบลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ทองคำและอสังหาริมทรัพย์ มากกว่าสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เนื่องจากมีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำแต่ว่ายังคงให้ผลตอบแทนได้สูง

สิ่งที่แบรนด์ควรทำ

  • ประสิทธิภาพและแรงขับ
  • แบรนด์มีโอกาสสำคัญในการตอบสนองความต้องการของชาว Silver Gen เนื่องจากพวกเขายังสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงและมีรายได้สูง
  • แบรนด์อาจศึกษาโอกาสการเติบโตของเครื่องดื่มบำรุงสมอง เครื่องดื่มให้กำลังงานและเครื่องดื่มสำหรับการเล่นกีฬา แอปพลิเคชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเซ็กเมนต์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
  • แผนการลงทุนเพื่อ “ชีวิตที่เต็มที่ยิ่งขึ้น”
  • เนื่องจากพวกเขาจะยังไม่เกษียณในเร็ววันนัก แบรนด์ด้านการเงินสามารถคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อกระตุ้นและเติมเติมความต้องการของชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปให้ใช้ชีวิตกินอยู่ดีและรักษาความกระปรี้กระเปร่าเอาไว้ เช่นการวางแผนการลงทุนเพื่อชีวิตที่สองและการมีเงินเก็บเพื่อเที่ยวรอบโลก เป็นต้น
  • แบรนด์ด้านการเงินควรเสาะหาวิธีที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองจับต้องได้มากขึ้น เช่น นำเสนอผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทันที ซึ่งพวกเขาจะสามารถสัมผัสได้ แทนที่จะบอกเรื่องผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้ต่อไปในอนาคตอันไกลโพ้น
  • ตลาดอสังหาริมทรัพย์สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นนี้ได้ด้วยเช่นกัน อาทิ การสร้างชุมชนเพื่อชาว Silver Age ที่ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง

เทคโนโลยีและสื่อ: สื่อออนไลน์มีไว้เพื่อไม่ให้ขาดการติดต่อและติดตามข่าวคราว แต่ฉันเชื่อสื่อดั้งเดิมมากกว่า

ชาว Silver Gen เปิดใจเรียนรู้และทดลองเทคโนโลยีและแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ๆ แต่ว่ายังมีอคติที่เป็นเสมือนกำแพงคือความไม่เชื่อถือ คนกลุ่ม Silver Gen ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่จะติดต่อกับเพื่อนๆ โดยใช้สมาร์ทโฟนและหาความบันเทิงจากการดูโทรทัศน์ พวกเขาใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงบริการต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น ช้อปปิ้งออนไลน์ กำหนดเวลาในการทำภาระหน้าที่ต่างๆ การศึกษา ฯลฯ แม้ว่าพวกเขาจะเริ่มเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ช้ากว่าคนรุ่นอื่นๆ แต่การใช้งานของพวกเขากำลังเพิ่มมากขึ้น และเทคโนโลยีกำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเขา ชาว Silver Gen ผสานใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับกิจวัตรและพฤติกรรมที่มีอยู่แต่เดิมโดยที่ไม่ได้สร้างพฤติกรรมขึ้นใหม่ทั้งชุดเพื่อตามกระแสนิยมแต่อย่างใด

คนกลุ่ม Silver Gen ไม่หวังพึ่งพาหรือยังชีพด้วยสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียอย่างคนรุ่นอายุน้อยกว่าทำ พวกเขาเห็นโซเชียลมีเดียเป็นแหล่งความบันเทิง ไม่ใช่พื้นที่ในการไต่เต้าสถานะทางสังคม ยิ่งอายุมากขึ้น ชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปก็จะยิ่งใช้แพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียน้อยลง การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าผู้บริโภคอายุ 45 – 60 ปีมีการเปิดรับและผสมผสานการใช้งานโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลทฟอร์มเป็นอย่างมาก แต่ผู้บริโภคอายุ 61 ปีขึ้นไปจะใช้เฟซบุ๊คเป็นแพลทฟอร์มหลัก

ในส่วนของพฤติการการซื้อและการบริโภคของผู้สูงวัยพบว่า ผู้บริโภคอายุ 45 – 65 ปีจะซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นความต้องการของพวกเขาเอง อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่าอัตราการเปิดรับแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่นๆ โดยสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญคือ สามารถคืนสินค้าได้ง่าย ชำระเงินปลายทางได้ และมีบริการส่งฟรี ซึ่งหากไม่มีบริการเหล่านี้ให้ก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะหันไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านช่องทางออฟไลน์มากกว่า นอกจากนี้การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคอายุ 65 ปีขึ้นไปมีสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวช่วยซื้อของบนแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้เนื่องจากอุปสรรคต่างๆ ที่พวกเขาประสบในการใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ ยิ่งไปกว่านั้น คนดัง KOL และเหล่าผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เป็นความสนใจคล้ายๆ กับพวกเขายังไม่มีอิทธิพลต่อชาว Silver Gen ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปมากนัก แต่สิ่งที่มีอิทธิพลต่อพวกเขามากกว่าคือการได้เห็นจากผู้คนที่มีปัญหาคล้ายๆ กับตนเอง จึงกล่าวได้ว่าความรู้สึกร่วมและประสบการณ์ของคนดัง KOL และผู้เชี่ยวชาญน่าจะมีอิทธิพลต่อพวกเขาได้มากกว่าชื่อเสียงของคนเหล่านี้และการที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน

สรุปประเด็นเรื่องเทคโนโลยีและสื่อของคนกลุ่ม Silver Gen

  • กิจวัตรและพฤติกรรมที่มีอยู่เดิม
  • ชาว Silver Gen มีกิจวัตรและพฤติกรรมเดิมอยู่แล้ว ซึ่งพวกเขาจะผสานใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียวกับกับกิจวัตรประจำวันของพวกเขา
  • เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียไม่สามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้สร้างแบบแผนกิจวัตรและพฤติกรรมชุดใหม่ขึ้นแต่อย่างใด
  • สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือเสริมให้กับชีวิตของพวกเขา
  • ชาว Silver Gen วัย 50 ปีขึ้นไปมีความสุขกับการติดต่อเพื่อนฝูงและเสาะหาความบันเทิงจากอุปกรณ์และช่องทางโซเชียลมีเดียของพวกเขา
  • นับวันจะถูกทิ้งห่างมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ในขณะที่เทคโนโลยีมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ฉลาดขึ้น ก้าวล้ำขึ้น และผสานตัวเข้าสู่ชีวิตประจำวันมากขึ้นนั้น ยิ่งนับวันชาว Silver Gen โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะยิ่งไล่ตามสิ่งเหล่านี้ไม่ทันกันมากขึ้นเรื่อยๆ

กลุ่มคน Silver Gen มักถูกเหมารวมว่าเป็นคนรุ่นผมหงอกที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ใช้ชีวิตนิ่งๆ อยู่กับที่ และกลัวเทคโนโลยี แบรนด์จึงต้องศึกษาตลาดและปรับตัวเข้าหาพฤติกรรมของคนรุ่นนี้ พร้อมกับปรับเปลี่ยนการรับรู้และกลยุทธ์ที่ใช้ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้

สิ่งที่แบรนด์ควรทำ

  • เทคโนโลยีใหม่และการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX Design)
  • ชาว Silver Gen ไม่เห็นว่าประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่มีความน่าสนใจแต่อย่างใด และคิดว่าเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและเรียนรู้
  • แบรนด์ควรจะยึดมั่นในหลักการสำคัญของ UX ในการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ในเรื่องโฮมเพจ หน้าจอเริ่มต้น และปุ่มเปิด/ปิด เพื่อตอบสนองและสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ง่ายสำหรับคนรุ่นนี้
  • การให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่
  • ชาว Silver Gen ต้องการทำความเข้าใจว่าพวกเขาจะสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาผสานเข้ากับพฤติกรรมและกิจวัตรเดิมของพวกเขาได้อย่างไร แบรนด์จะต้องผสานผลิตภัณฑ์ของตนเข้ากับพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ให้ได้ โดยไม่สร้างแบบแผนกิจวัตรและพฤติกรรมชุดใหม่ให้กับพวกเขา
  • การตลาดผ่าน KOL
  • แบรนด์อาจจะยังคงใช้ KOL เพื่อโปรโทมผลิตภัณฑ์ตามปกติในการเข้าหาผู้บริโภคกลุ่มนี้ แต่ KOL เหล่านี้จะต้องหยิบยกปัญหาที่มีเหมือนกับพวกเขา โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในกลุ่มอายุเดียวกันหรือเป็นคนดังแต่อย่างใด

10 ประเด็นเด่นจากผลการศึกษา

  1. เอ็นจอยกับปัจจุบัน ไม่อยากต้องทิ้งชีวิตแบบที่เป็นอยู่และมีความสุขกับมันต่อไป พวกเขาจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ และมีความสุขกับมัน มากกว่าการขวนขวายหาเงินเพิ่ม หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่
  2. ร่ำรวยเวลา เพราะพวกเขาไมได้ขัดสนเรื่องเวลา มีเวลาเหลือเฟือ จึงไม่ได้เน้นให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว รีบเร่งมากนักแต่กลับให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือและการที่สามารถคืนสินค้าได้ โดยเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่น่าสนใจมากกว่าด้านอื่นๆ
  3. ชื่นชมคนรุ่นอายุน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำตาม พวกเขาชื่นชมกับการที่คนรุ่นอายุน้อยกว่าเป็นแนวหน้ากล้าทดลองอะไรใหม่ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเลือกที่จะใช้ตามหรือทำตามเสมอไป
  4. สุขภาพดีเป็นเรื่องของร่างกาย สุขภาพสำหรับพวกเขาคือการคงความ “สมบูรณ์แข็งแรง” และสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ และการมีสุขภาพจิตและใจที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่ง เพื่อให้ไปถึงสุขภาพกายที่แข็งแรงด้วย
  5. ชีวิตเกษียณไม่มีอยู่จริง พวกเขาไม่เห็นว่าตนเองจะเกษียณ พวกเขายังต้องทำงานเนื่องจากมีภาระหน้าที่ทางการเงิน หรือไม่ก็เพื่อแก้เบื่อ
  6. ทุกอย่างต้องจับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวกับการลงทุน พวกเขาไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถสัมผัส มองเห็น หรือรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสพื้นฐานได้ หรือไม่คุ้นเคยกับมัน และให้ความสำคัญกับสิ่งที่จับต้องได้ในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าในโลกดิจิทัล
  7. ผสานเทคโนโลยีใหม่เข้ากับกิจวัตรเดิมเพราะพฤติกรรมเก่าเปลี่ยนยาก ในการจับตลาดกลุ่มนี้ เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียใหม่จะต้องเข้ากันกับกิจวัตรที่คนรุ่นนี้มีอยู่เดิมด้วยจึงจะสามารถกระตุ้นอัตราการยอมรับหรือการเข้ามาใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ ของพวกเขาได้
  8. ตัดสินใจซื้อจากคนที่มีปัญหาเดียวกันไม่ใช่คนดัง ผู้ที่สามารถส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของพวกเขาคือผู้ที่มีปัญหาคล้ายๆ กันหรือมีความน่าเชื่อถือ โดยที่ไม่มีปัจจัยเรื่องอายุมาเกี่ยวข้อง
  9. 60+ เข้าไม่ถึงโซเชียล พบว่าการเปิดรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและบริการออนไลน์ต่างๆ มีอัตราลดลงอย่างมาก ในกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งที่เป็นกลุ่มที่สามามารถสร้างโอกาส และมีพลังทางการซื้อสูง
  10. พวกเขาต้องการมีพื้นที่ของพวกเขาเอง พวกเขาต้องการให้มีแบรนด์ ผลิตภัณฑ์และสถานที่ที่ได้รับการออกแบบและตอบสนองความต้องการของเขาโดยเฉพาะ พวกเขาไม่ต้องการให้แบรนด์ปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือน “ตัวแถม” หรือเป็นส่วนเกินในสังคม

7 สิ่งที่แบรนด์สามารถช่วยชาว Silver Gen ได้

  1. จัดผู้ใหญ่วัยอาวุโสเป็นผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มหลักในการศึกษาวิจัยผู้บริโภคของแบรนด์
  2. ใช้ข้อความที่สื่อสารครอบคลุมถึงพวกเขา แสดงให้เห็นว่าการสูงวัยขึ้นก็มีแง่มุมที่ดี
  3. แสดงราคาและค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
  4. มีการจำลองการใช้งานให้ผู้ใช้สูงวัยสามารถทดลองใช้ได้ในแบบออนไลน์
  5. ให้ความมั่นใจเรื่องการป้องกันการหลอกลวงและความปลอดภัยของข้อมูลตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการสัมผัสประสบการณ์กับแบรนด์
  6. มีเครื่องหมายช่วยบอกเส้นทางหรือขั้นตอนการใช้งาน ยิ่งสร้างประสบการณ์ที่ชัดเจนและง่ายได้มากเท่าไรยิ่งดี มิฉะนั้นผู้ใหญ่วัยอาวุโสอาจจะยอมแพ้เสียก่อนเนื่องจากไปต่อไม่ถูก
  7. มีพนักงานที่เป็นมนุษย์คอยให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งานหากเกิดความผิดพลาดหรือติดขัดใดๆ ขึ้น พร้อมกับเสนอการฝึกอบรมการใช้งานอย่างครบถ้วนครอบคลุมทุกเนื้อหา การสอนวิธีใช้งานควรจะครอบคลุมสิ่งต่างๆ เช่น ปุ่มสำหรับไอคอนต่างๆ ในอินเตอร์เฟส เอกสารการสอน และวิธีการง่ายๆ ในการอัพเดทซอฟท์แวร์

 

“การช้อปปิ้งแห่งอนาคตในประเทศไทยได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วในช่วงปีหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 แบรนด์ต้องไม่มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่คนรุ่นนี้แก่ตัวลง พวกเขาก็จะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย แบรนด์จะต้องคำนึงด้วยว่าคนทุกรุ่นมีความเชื่อมโยงกับแบรนด์ในแบบที่แตกต่างกันและมีวัตถุประสงค์ในการช้อปปิ้งที่แตกต่างกันออกไป จึงควรถอยกลับมาสักก้าวเพื่อพินิจพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในทุกแง่มุม ปรับเปลี่ยนโฟกัสให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุ และวางแผนการดำเนินกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นที่สนใจของคนทุกกลุ่มอายุ” คุณมัวรีน กล่าวสรุป

วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เป็นเอเยนซีที่ให้บริการด้านความคิดสร้างสรรค์ ข้อมูล และเทคโนโลยี พร้อมด้วยขีดความสามารถทางด้านการวิจัยตลาดขั้นสูง จึงสามารถมอบบริการสนับสนุนโดยใช้ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคที่มีความสำคัญต่อลูกค้า บริษัทฯมุ่งเน้นให้บริการในฐานะเอเยนซีที่พร้อมรับมือกับอนาคตได้ดีที่สุดในประเทศไทย พร้อมเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีที่สุดของแบรนด์ด้วยบริการที่ครบถ้วนที่สุดในที่เดียว ทั้งด้านการสร้างประสบการณ์ลูกค้า, การออกแบบ, การสื่อสาร, CRM, คอมเมิร์ซ, การสร้างคอนเทนท์, กลยุทธ์ข้อมูล, การวิเคราะห์ข้อมูล, แคมเปญดิจิทัล, การตลาดเฉพาะบุคคล, ประชาสัมพันธ์, สื่อ, การบริหาร KOL และอินฟลูเอนเซอร์, ฝ่ายผลิต, โซเชียลมีเดีย, การออกแบบประสบการผู้ใช้งาน (UX) และอินเทอร์เฟสผู้ใช้งาน (UI) เป็นต้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่