วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกAuto Newsโตโยต้าแถลงยอดขายรถยนต์ปี 2566 คาดการณ์ตลาดรวมปี 2567 ที่ 800,000 คัน พร้อมตั้งเป้าประมาณการขายโตโยต้าที่ 277,000 คัน

โตโยต้าแถลงยอดขายรถยนต์ปี 2566 คาดการณ์ตลาดรวมปี 2567 ที่ 800,000 คัน พร้อมตั้งเป้าประมาณการขายโตโยต้าที่ 277,000 คัน

-

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2566 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2567 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

สถิติการขายรถยนต์ในปี 2566

ปี 2566 ถือเป็นปีที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว โดยตลาดภายในประเทศยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัว ในขณะที่ภาคการส่งออกโดยรวมมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ทั้งนี้ มีปัจจัยหลากหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงจากหนี้ครัวเรือนสูง ตลอดจนการชะลอซื้อรถยนต์ของภาคธุรกิจเพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการรัฐซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีปัจจัยด้านบวกอื่นๆ ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม อาทิ สัดส่วนการขายของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศที่ขยายตัวได้ดี โดยได้กระแสความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนด้านราคาของภาครัฐ ตลอดจนตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกในช่วงที่ผ่านมา เพื่อชดเชยการส่งมอบรถที่ล่าช้าจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญจนทำให้การผลิตล่าช้าออกไปในปีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ได้สะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยมีตัวเลขยอดขายรวมในปี 2566 อยู่ที่ 775,780 คัน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2565

สถิติการขายรถยนต์ในปี 2566 ยอดขายปี 2566 การเปลี่ยนแปลงเทียบกับปี 2565
  • ปริมาณการขายรวม
 775,780 คัน -9%
  • รถยนต์นั่ง
  292,505 คัน                     +10%
  • รถเพื่อการพาณิชย์
483,275 คัน                     -17%
  • รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)
325,024 คัน                    -29%
  • รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)
264,738 คัน                   -32%

สำหรับยอดขายของโตโยต้าในปี 2566 มียอดขายโดยรวมอยู่ที่ 265,949 คัน หรือลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หากแต่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34.3% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์นั่งของโตโยต้ามีการเติบโตสูงขึ้นจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถอีโคคาร์ที่ยังคงสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ได้อย่างต่อเนื่อง จากความสำเร็จด้านยอดขายของรถยนต์ Yaris ATIV รวมถึงการมีรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง  Yaris Cross ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการมีผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่หลากหลายของโตโยต้า ก็มีส่วนทำให้สามารถเข้าถึงและใกล้ชิดกับลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายต่างๆได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกเหนือจากรถยนต์ภายใต้แบรนด์โตโยต้า ในปี 2566 ที่ผ่านมา แบรนด์เลกซัส ประเทศไทย ประสบความสำเร็จ มียอดขายสูงสุด อยู่ที่ 1,012 คัน นับเป็นครั้งแรกที่ เลกซัส ประเทศไทย สามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดถึงระดับกว่า 1,000 คัน แสดงถึงความไว้วางใจ และความมั่นใจของลูกค้าชาวไทยที่มีต่อแบรนด์เลกซัส

สถิติการขายรถยนต์ของโตโยต้าในปี 2566 ยอดขายปี 2566 การเปลี่ยนแปลงเทียบกับปี 2565 ส่วนแบ่งตลาด
  • ปริมาณการขายโตโยต้า
265,949 คัน -8% 34.3%
  • รถยนต์นั่ง
99,292 คัน +20% 33.9%
  • รถเพื่อการพาณิชย์
 166,657 คัน -19% 34.5%
  • รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)
 128,689 คัน -27% 39.6%
  • รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)
 106,601 คัน -28% 40.3%

แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567

แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีปัจจัยรอบด้านที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวม อาทิ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น นโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลในด้านการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2567 จะอยู่ที่ 800,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2567 ยอดขายประมาณการ

ปี 2567

เปลี่ยนแปลงเทียบกับ

ปี 2566

  • ปริมาณการขายรวม
800,000 คัน  +3%
  • รถยนต์นั่ง
296,500 คัน  +1%
  • รถเพื่อการพาณิชย์
503,500 คัน  +4%

สำหรับโตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 277,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.6%

ประมาณการยอดขายรถยนต์โตโยต้าในปี 2567 ยอดขายประมาณการ

ปี 2567

เปลี่ยนแปลง

เทียบกับปี 2566

ส่วนแบ่งตลาด
  • ปริมาณการขายโตโยต้า
277,000 คัน  +4% 34.6%
  • รถยนต์นั่ง
81,700 คัน  -18% 27.6%
  • รถเพื่อการพาณิชย์
195,300 คัน  +17% 38.8%
  • รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)
133,264 คัน  +4% 41.2%
  • รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)
114,500 คัน  +7% 42.1%

ปริมาณการส่งออกรถยนต์และการผลิตของโตโยต้าในปี 2566

ในปี 2566 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปจำนวน 379,044 คัน เพิ่มขึ้น 0.2% จากปี 2565 โดยยอดรวมการผลิตรถยนต์สำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกในปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 621,156 คัน หรือลดลง 5.8% จากปี 2565

ปริมาณการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปและการผลิตของ

โตโยต้าในปี 2566

ปริมาณในปี 2566 เปลี่ยนแปลงเทียบกับปี 2565
  • ปริมาณการส่งออก
379,044 คัน  +0.2%
  • ยอดผลิตรวมทั้งส่งออกและการขายในประเทศ
621,156 คัน  -5.8%

 

เป้าหมายการส่งออกรถยนต์และการผลิตของโตโยต้าในปี 2567

        สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปี 2567 คาดการณ์ว่ายังต้องเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ตลอดจนภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลให้โตโยต้าตั้งเป้าปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 358,800 คัน หรือลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2567 อยู่ที่ราว 615,700 คัน หรือลดลง 0.9% จากปีที่ผ่านมา

เป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปและการผลิตของโตโยต้าปี 2567 ปริมาณในปี 2567 เปลี่ยนแปลงเทียบกับปี 2566
  • ปริมาณการส่งออก
358,800 คัน  -5.0%
  • ยอดผลิตรวมทั้งส่งออกและการขายในประเทศ
615,700 คัน  -0.9%

การดำเนินงานในด้านอื่นๆของโตโยต้าในประเทศไทย

ในปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจยานยนต์แล้ว โตโยต้ายังได้มีในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ Multiple Pathway”  เพื่อทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน โดยมีการร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิ

1. การลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น / เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP / บริษัท ทรู ลีสซิ่ง / บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG, และ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation หรือ CJPT เพื่อเร่งความร่วมมือในการมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย โดยได้เริ่มต้นดำเนินการทดลองใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านข้อมูล ด้านการเดินทาง และด้านพลังงาน  ซึ่งในปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินความร่วมมือที่เห็นเด่นชัดคือ การเปิดตัวเครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพที่ได้มาจากมูลสัตว์ในฟาร์มสัตว์ปีกและเศษอาหารของซีพี และอาหารเหลือทิ้งจากโรงอาหารของโตโยต้า โดยนำพลังงานนั้นมาใช้กับรถพลังงานไฮโดรเจน ทั้งนี้ ความท้าทายต่อไป คือการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน และการลดต้นทุนในกระบวนการทั้งหมดของขั้นตอน “การผลิต” “การขนส่ง” และ “การใช้” พลังงานโดยการใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับสภาพ และการใช้งานในประเทศไทย นอกจากนี้ เพื่อปรับปรุงให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการใช้ข้อมูล จะมีการนำข้อมูลด้านค้าปลีก และขนส่งจาก ซีพีและเอสซีจี รวมถึงการนำเทคโนโลยี “Digital Twin” (การสร้างโมเดลเสมือนจริงจากพื้นที่จริง) ของโตโยต้า มาเพิ่มประสิทธิภาพของ “การเดินทาง การขนส่ง และพลังงาน” โดยร่วมมือกับระบบทางสังคม เช่น การจัดการพลังงานและการควบคุมการจราจร เป็นต้น

2. การต่อยอดโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ ที่โตโยต้าร่วมมือกับเมืองพัทยาในการจัดสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์พลังงานทางเลือกที่จัดเตรียมไว้ให้ผู้คนในเมืองพัทยาได้ทดลองใช้งานในการเดินทางรูปแบบต่าง ๆ ได้มีการต่อยอดไปสู่การเตรียมความพร้อมในการนำรถกระบะต้นแบบพลังงานไฟฟ้า 100% อย่าง Hilux REVO BEV มาให้บริการในรูปแบบรถโดยสารประจำทางสาธารณะแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา โดยพร้อมที่จะเริ่มทดลองให้บริการได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของรถในโครงการทั้งหมดมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 4,000 ตัน ต่อปี

นอกจากนี้ ในด้านกิจกรรมสังคมอื่น ๆ โตโยต้าก็ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ “ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมทั้งเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่ดี ผ่านการดำเนินกิจกรรมและขยายผลการดำเนินงานในโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแสวงหาแนวทางการประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อมีส่วนช่วยผลักดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป

โตโยต้า ร่วมขับเคลื่อนอนาคต

- Advertisment -

Must Read