เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กองทัพเรือ ได้ร่วมกับ ไอคอนสยาม, กระทรวงวัฒนธรรม, กรมศิลปากร, เครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และจํากัด ธนาคารกสิกรไทย จัดงาน “นิทรรศการ สี สรรค์ สะท้อนศิลป์ เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” นำเสนองานศิลป์อันทรงคุณค่าและเผยแพร่ประเพณีอันงดงามของประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก สะท้อนความรุ่งโรจน์ทางวัฒนธรรมและความวิจิตรบรรจงของงานช่างศิลป์ไทย ผ่านลวดลายบนเรือพระราชพิธี และความงดงามตระการตาของริ้วขบวนเรือพระราชพิธี ที่นับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติ ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567 ณ ไอคอนลักซ์ อเวนิว ชั้น M ไอคอนสยาม
ในพิธีเปิดนิทรรศการ วันที่ 27 กันยายน 2567 ได้รับเกียรติจาก พลเรือโท วิจิตร ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ และประธานคณะกรรมการจัดงานเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (คตร.) เป็นประธานในพิธี โดยมี คุณสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และผู้ทรงเกียรติจากกองทัพเรือ ตลอดจนผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนผู้มีส่วนร่วมในการจัดงาน เข้าร่วมพิธี พร้อมชมนิทรรศการขบวนพยุหยาตรา การแสดงเห่เรือจากกองทัพเรือ และการสาธิตการประดับกระจกโดยช่างสิบหมู่จากกรมศิลปากร
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบทอดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ และประกอบในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ รวมถึงพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค รวม 17 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการเสด็จพระดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปแล้วหนึ่งครั้งก่อนหน้านี้ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แต่เป็นครั้งแรกในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จึงนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ภาพความงดงามของขบวนเรือประวัติศาสตร์ของไทยจะได้ปรากฏสู่สายตาโลก โดยนิทรรศการนี้จะแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาศาสตร์และศิลป์คู่แผ่นดินไทย และถ่ายทอดทุกรายละเอียดในริ้วขบวนเรือพระราชพิธีให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิด
คุณสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า “หนึ่งในปณิธานอันแรงกล้าของไอคอนสยาม คือการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันงดงามของไทยให้คงอยู่สืบไป ซึ่งการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ไอคอนสยามได้มีส่วนร่วมในการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และสืบสานประเพณีอันยิ่งใหญ่ ให้ประชาชนคนไทยร่วมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ชื่นชมและสัมผัสบรรยากาศอันงดงามตระการตาของริ้วขบวนเรือพระราชพิธี ก่อนถึงวันพระราชพิธี ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่รู้จักประเพณีอันดีงามและเข้าใจวัฒนธรรมของชาติ อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น”
“นิทรรศการ สี สรรค์ สะท้อนศิลป์ เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความวิจิตรตระการตาของมรดกทางวัฒนธรรมไทย ถ่ายทอดฝีมืออันละเอียดลออของช่างศิลป์ ตลอดจนแสดงให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงชาวต่างประเทศ ได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27ตุลาคม 2567 ภายในนิทรรศการ ประกอบด้วย การจัดแสดงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง ความยาว 11 เมตร พร้อมเรือพระที่นั่งจำลอง 4 ลำ ภาพแสดงริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทั้ง 52 ลำ เรื่องราวการประดับตกแต่งเรือพระราชพิธีด้วยการแกะสลักไม้ ลงรักปิดทอง และประดับกระจก โดยช่างฝีมือชำนาญการ นอกจากนี้ยังจัดแสดงชุดนายเรือพระที่นั่ง ชุดนายท้ายคนกำกับ ชุดพนักงานเห่เรือ รวมถึงการจัดแสดงแกลเลอรี่ภาพและวิดีทัศน์พระราชพิธีขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 และรายละเอียดเกี่ยวพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พร้อมจัดแสดงบุษบกจำลอง อีกทั้งยังมีการสาธิตการประดับกระจกจากช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ให้ได้ชมด้วย
ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชม “นิทรรศการ สี สรรค์ สะท้อนศิลป์ เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567 ณ ไอคอนลักซ์ อเวนิว ชั้น M ไอคอนสยาม ทั้งนี้ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 จะมีการถ่ายทอดสดริ้วขบวนเรือพยุหยาตรา ในการเสด็จพระดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ให้ผู้สนใจได้ร่วมรับชมความงดงามและภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ที่ไอคอนสยาม ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
นิทรรศการ สี สรรค์ สะท้อนศิลป์
เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
27 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567 ณ ไอคอนลักซ์ อเวนิว ชั้น M ไอคอนสยาม
นิทรรศการ สี สรรค์ สะท้อนศิลป์ เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความวิจิตรตระการตาของมรดกทางวัฒนธรรมไทย ถ่ายทอดฝีมืออันละเอียดลออของช่างศิลป์ ตลอดจนแสดงให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงชาวต่างประเทศ ได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27ตุลาคม 2567 ภายในนิทรรศการ ประกอบด้วย การจัดแสดงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง ความยาว 11 เมตร พร้อมเรือพระที่นั่งจำลอง 4 ลำ ภาพแสดงริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทั้ง 52 ลำ เรื่องราวการประดับตกแต่งเรือพระราชพิธีด้วยการแกะสลักไม้ ลงรักปิดทอง และประดับกระจก โดยช่างฝีมือชำนาญการ นอกจากนี้ยังจัดแสดงชุดนายเรือพระที่นั่ง ชุดนายท้ายคนกำกับ ชุดพนักงานเห่เรือ รวมถึงการจัดแสดงแกลเลอรี่ภาพและวิดีทัศน์พระราชพิธีขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 และรายละเอียดเกี่ยวพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พร้อมจัดแสดงบุษบกจำลอง อีกทั้งยังมีการสาธิตการประดับกระจกจากช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร โดยจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรี ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567 ณ ไอคอนลักซ์ อเวนิว ชั้น M ไอคอนสยาม
ประวัติศาสตร์ การจัดริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เช่นการเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การต้อนรับทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ และประกอบในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น โดยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สืบทอดต่อกันมาถึงปัจจุบัน ทว่าก่อนหน้านี้การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคถูกเว้นไปนานกว่า 25 ปี โดยนับตั้งแต่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อฉลองพระนคร ครบ 105 ปี เมื่อปีพุทธศักราช 2475 ก็ไม่ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลย จนถึงปีพุทธศักราช 2500พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีขึ้นมาใหม่ และบูรณเรือพระราชพิธี รวมทั้งสร้างขึ้นมาใหม่ด้วย ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น และได้จัดให้มี “ขบวนพุทธพยุหยาตรา” อัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระสงฆ์แห่ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเฉลิมฉลอง โดยการจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบเนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 จนถึงปี พ.ศ. 2555 รวม 17 ครั้ง โดยครั้งใหญ่ซึ่งเป็นที่จดจำ คือการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เฉลิมฉลองในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยมีการจัดริ้วขบวนอย่างสวยงาม พร้อมเรือพระราชพิธีลำใหม่ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย โดยได้นำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มาเป็นแม่แบบ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2562 เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนิน แต่นับเป็นครั้งแรกในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
กฐินหลวง โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน
สำหรับ “กฐิน” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามว่า คือ ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น หากถวายก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นไม่นับเป็นกฐิน ทั้งนี้ “กฐินหลวง” คือกฐินที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยครั้งนี้เป็นพระกฐินที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จึงนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ภาพความงดงามของขบวนเรือประวัติศาสตร์ของไทยจะได้ปรากฏสู่สายตาโลก
นิทรรศการที่เผยให้เห็นความงามทุกแง่มุมของของเรือพระที่นั่ง
นิทรรศการ สี สรรค์ สะท้อนศิลป์ เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จะแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาศาสตร์และศิลป์คู่แผ่นดินไทย และถ่ายทอดทุกรายละเอียดในริ้วขบวนเรือพระราชพิธีให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องราวการประดับตกแต่งเรือพระราชพิธีด้วยการแกะสลักไม้ ลงรักปิดทอง และประดับกระจก อันวิจิตรบรรจง ผ่านภาพเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ โดยทุกลำโดดเด่นงดงามด้วยงานแกะสลักไม้ปิดทองประดับกระจก ดังนี้
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
- ลายส่วนหัว เป็นรูปพญานาคดัดแปลงจากลายกนก ลักษณะเป็นเปลวยอดสะบัด ประดับกระจกเฉพาะไส้ลาย ส่วนใหญ่เป็นไม้ปิดทอง บริเวณเขี้ยวและในปากใช้สีน้ำมันทาลูกตาประดับกระจกสีขาวและสีแดงตรงกลาง
- ลายส่วนคอ ลายเกร็ดแกะเป็นร่อง เหลือเส้นขอบของเกร็ด ลายเกร็ดประดับกระจกสีเขียว บริเวณส่วนคอเป็นร่องเกร็ด ท้องงู ประดับกระจกสีขาวในร่อง
- ลายบริเวณอก มีลายดอก 10 กลีบ ประดับอกละ
1 ดอก กึ่งกลางของดอก เป็นเกสรแกะด้วยไม้ เป็นเมล็ดเกสรปิดทอง กลีบดอกมี 2 ชั้น ดอกชั้นในมีขนาดเล็ก แกะไส้ของกลีบดอก ออกประดับกระจกสีดาว กลีบดอกชั้นนอกมีขนาดใหญ่กว่าประดับกระจกสีแดง - ลายรอบคอ เป็นลายกระจังเทพพนม ประดับกระจกสีเขียว ในไส้ตรงกลาง ไส้ด้านหลังประดับกระจกสีน้ำเงิน โดยรูปแบบกระจังที่ใช้ เป็นกระจังชั้นสูงแบบเดียวกับที่ใช้ในราชรถหรือบุษบกขอพระมหากษัตริย์
- ลายด้านข้าง เป็นลายเถานาคเกี้ยว โดยวางลายเต็มพื้นที่ ลายขอบเรือ เป็นลาย หน้ากระดานนาคเกี้ยว มีเส้นลวดกั้นมีลายกระจังรวนเกาะด้านล่าง
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
1.โขนเรือ ส่วนตาหงส์ ลายบริเวณตาเป็นกระจัง ไส้ลายทำเป็นลูกตาประดับกระจกสีขาวใจกลางสีดำ
- ลำคอ ลายดอกซีกนำมาซ้อนเรียงต่อกันเป็นเหมือนขนของหงส์ การวางลายเหมือนลายกระเบื้องปั้นเกร็ด คือมีลักษณะซ้อนทับกันลงมา (ดอกซีกซ้อนชั้นกันนี้มีลักษณะถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมา)
- เหนือรัดอก หรือส่วนเชื่อมต่อของโครงสร้างเรือ และหัวหงส์เป็นลายกาบกนกรัตน์ ไส้ลายประดับกระจกสีแดงและสีเขียว
- รัดอกด้านหน้า เป็นลายประจำยามดอกใหญ่ รัดอกด้านใน เป็นลายประจำยามรักร้อย ประดับกระจกแดงและเขียวมีเส้นลาดคั่นขอบนอกของเส้นลวดประดับกระจกแดง รัดอกชั้นนอกสุด เป็นลายกระจังรวน ไส้ลายประดับกระจกสีเขียว
ช่องไฟด้านหลังประดับกระจกสีน้ำเงิน
- ด้านข้างของหัวเรือ เป็นลายเถาก้านขด 2 วง โดยแกะลายเป็นลายก้านขดหงส์คาบ บนก้านมีหัวหงส์คาบลายประกอบ
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ
1.ลายบริเวณโขนเรือ นารายณ์ถืออาวุธ ตรี คฑา จักร สังข์ ประทับยืนหลังครุฑตัวสีแดง สวมสังวาลย์สีแดงลายปิดทองประดับกระจก มือจับนาคข้างละตัว
2.ลายด้านข้าง ลายเถาก้านขดหางโต (ในอดีตเป็นลายดอกพุดตาน) ไส้ลายและก้านประดับกระจกสีเขียว ปลายก้านขดเป็นรูปครุฑ 2 ลักษณะ คือ ครุฑทำท่าพนมมือ และท่ายุดนาค
- ลายบริเวณขอบเรือ เป็นลายหน้ากระดานเครือเถาประจำยามใบเทศ มีลายเส้นลวดกั้นขอบลวดประดับกระจกสีเขียวเป็นเส้น และมีกระจังรวนอยู่ขอบล่างช่องไฟ ประดับกระจกสีน้ำเงิน ตัวลายปิดทอง
- ลายบริเวณท้ายเรือและทวนหางเรือ เป็นลายเถาขด มีไหลกนกมาจบตรงปลายในก้านลายประดับกระจกสีเขียว ขอบด้านบนเป็นลายหน้ากระดานในช่องไฟของลายก้านขดประดับกระจกสีน้ำเงิน ขอบด้านบนมีลายเครือเถาประจำยาม ปลายเหนือมาลัยท้ายเป็นกนกหางครุฑ
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ (บริเวณโขนเรือ)
1.ลายด้านหน้า เป็นลายนาคเกี้ยว บริเวณยอดมีเกี้ยวรักรักร้อยขั้นในสุด โดยมีรูปพญานาคที่มีหัวเป็นมนุษย์ ตัวเป็นนาค (ตามคติพราหมณ์ถือว่าเป็นนาคชั้นเทพที่แปลงเป็นมนุษย์ได้) นาค 7 เศียร นี้คือพญาอนันตนาคราช (มีความเกี่ยวพันกับกลุ่มเรือที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ ถือเป็นคู่บารมี)
- ลายด้านข้างและด้านบน เป็นลายหน้ากระดานเกลียวนาค ฐานเป็นเกี้ยวรักร้อย ขอบบนและขอบล่างเป็นกระจังตาอ้อยเรียงโดยรอบมีเส้นลวดคาด ด้านในประดับกระจกสีน้ำเงิน ลายตอนกลางเป็นรักร้อยหัวนาค
- ลายด้านหน้าตอนล่าง เป็นพื้นที่ห้าเหลี่ยม ยาวลงมาเป็นผืนผ้า ส่วนยอดเป็นลายพญานาค 7 เศียรขดหางพันวนรอบหัวเป็นวงกลม และลายนาค 3 เศียร เอาหางพันขดรองรับพญานาค 7 เศียร ลักษณะเกี่ยวรัดนี้เป็นการผูกลายขึ้นเฉพาะ (เป็นลายเลียนแบบลายเถาไขว้) โดยสื่อความหมายถึงบริวารนาค มีนาค 3 เศียร และ 1 เศียรพันอยู่รายล้อมอยู่เบื้องล่าง
- ลายด้านข้างโขนเรือ ลายหน้ากระดานนาคเกี้ยวสองเถาวางเรียงซ้อนกัน
ชมความยิ่งใหญ่อลังการของริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารคพร้อมกัน 27 ตุลาคม 2567
นอกจาก นิทรรศการ สี สรรค์ สะท้อนศิลป์ เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ไอคอนสยามยังมีการถ่ายทอดสดริ้วขบวนเรือพยุหยาตรา ในการเสด็จพระดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ให้ผู้สนใจได้ร่วมรับชมความงดงามและภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป โดยครั้งนี้ประชาชนจะได้เห็นการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธีจํานวน 52 ลํา แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้
ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือประทับพระราชอาสน์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือตั้งบุษบกเชิญผ้าพระกฐิน นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมเป็นเรือกลองใน (เป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ) พร้อมด้วยเรือตำรวจ และเรือแซง7
ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ได้แก่ เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุตเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง ปิดท้ายด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทองเป็นเรือคู่ชัก ส่วน ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดังสายละ 11 ลำ และเรือแซงสายละ 3 ลำ
โดยฝีพายเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ จะพายพร้อมกันกับกาพย์เห่เรือ ซึ่งประพันธ์ขึ้นใหม่ จำนวน 4 บท บทที่ 1 เป็นบทสรรเสริญพระบารมี บทที่ 2 ชมเรือกระบวน บทที่ 3 บุญกฐิน และบทที่ 4 ชมเมือง ประพันธ์โดย พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ สำหรับเส้นทางขบวนเรือจะเริ่มต้นจากท่าวาสุกรี โดยจะมีการจอดเรือตั้งแต่หน้าสะพานกรุงธน ไปถึงหลังสะพานพระราม 8 เรือจะเริ่มออกจากสะพานพระราม 8 ผ่านป้อมพระสุเมรุ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุมกองทัพเรือ และถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร