เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางกลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมสนทนา Fireside Chat กับ Mr. Adam Nye ผู้บริหารของ Argus Media ในหัวข้อ “Navigating Corporate Stewardship – Advancing ESG Initiatives and Achieving Decarbonization Goals in the VCM” ในงานสัมมนา Argus Asia Carbon Conference จัดโดย Argus Media สื่อที่เชี่ยวชาญในการนำเสนอข้อมูลรายงานและ
การวิเคราะห์ตลาดพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
การประชุมดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะและข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดคาร์บอน
ในประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยนางกลอยตาได้กล่าวถึง การดำเนินธุรกิจของบางจากฯ ตามแนวทาง ESG ตลอดระยะเวลา 40 ปี ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero GHG Emissions ในปีค.ศ. 2050 ผ่านแผน BCP316NET ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงกระบวนการผลิต การสร้างสมดุลทางระบบนิเวศ และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาดด้วยเทคโนยี โดยใช้ตลาดคาร์บอนเป็นหนึ่งในกลไกชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร แต่ต้องให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุดก่อนชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต
สำหรับตลาดคาร์บอนในประเทศไทยได้มีการพัฒนาตลาดภาคสมัครใจ (VCM – Voluntary Carbon Market) ตั้งแต่ปี 2555 โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยมีการขึ้นทะเบียนโครงการต่างๆ เช่นการพัฒนาพลังงานทดแทน การปลูกและอนุรักษ์ป่า การจัดการในภาคขนส่ง การจัดการของเสีย และการปรับปรุงในภาคเกษตรกรรม โดยภาพรวมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยนับว่ายังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการประกาศเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศไทย และการตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ของภาคธุรกิจในระดับองค์กรมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เช่นการก่อตั้ง Carbon Markets Club โดยบางจากฯ และหน่วยงานพันธมิตร เป็นการรวมตัวในลักษณะเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและร่วมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาวะภูมิอากาศเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2564
นอกจากนี้ นางกลอยตายังได้เสนอความเห็นว่าควรมีการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตร่วมกันระหว่างประเทศในอาเซียนเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ยกระดับราคา สามารถซื้อขายข้ามประเทศในตลาดนานาชาติ ช่วยผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และสร้างโอกาส
ในการเป็นศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตในระดับสากล