วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกAuto Newsกลุ่มบริษัทบางจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 ขับเคลื่อนการเติบโตตามแผนควบรวมธุรกิจ เริ่มรับรู้ Synergy สร้างสถิติใหม่กำลังการกลั่น ปริมาณจำหน่ายน้ำมัน และธุรกิจต้นน้ำ

กลุ่มบริษัทบางจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 ขับเคลื่อนการเติบโตตามแผนควบรวมธุรกิจ เริ่มรับรู้ Synergy สร้างสถิติใหม่กำลังการกลั่น ปริมาณจำหน่ายน้ำมัน และธุรกิจต้นน้ำ

-

กลุ่มบริษัทบางจากรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 135,382 ล้านบาท EBITDA 15,308 ล้านบาท มีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,437 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.68 บาท กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันสร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่นของ 2 โรงกลั่นมาตรฐานระดับโลกกว่า 271,700 บาร์เรลต่อวัน กลุ่มธุรกิจการตลาดมีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงถึง 3,541 ล้านลิตร ส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดย OKEA ASA สร้างสถิติรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากปริมาณการผลิตและปริมาณการขายปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งผลิต Statfjord และแหล่งผลิต Hasselmus

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2567 ว่า
ได้รับประโยชน์จากการ synergy ระหว่างกันภายในกลุ่มบริษัทบางจากและการขับเคลื่อนการเติบโตตามแผนธุรกิจและเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 135,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5
จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 คิดเป็น EBITDA รวม 15,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 และมีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.68 บาท 

โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 กลุ่มบริษัทบางจากได้เริ่มรับรู้ Synergy  จากผลการดำเนินงานแล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท (ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ธุรกิจการตลาด โลจิสติกส์ และผลประโยชน์ร่วมกันผ่านการสนับสนุนด้านการบริหารงาน) โดยมุ่งมั่นที่จะผลักดันการทำ Synergy เพื่อบรรลุเป้าหมาย EBITDA Synergy (ก่อนหักภาษี) ไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาทในปีนี้และไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปีในปีต่อๆ ไป คาดว่าจะสามารถทำ Single Linear Program (LP) ได้ภายในครึ่งปีหลังของปีนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการกลั่นได้ดียิ่งขึ้นอีก และปรับเปลี่ยนป้ายในสถานีบริการได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2567 ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างหน่วยผลิต SAF แห่งแรกในประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิต SAF ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 โดยได้มีการดำเนินการจัดหาวัตถุดิบหลักในการผลิตผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” การรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว และร่วมมือกับซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ในการจัดหาน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมาสู่การผลิตและจำหน่าย (UCO-to-SAF)   ขณะที่ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับคอสโม ออยล์ และซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ในด้านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ SAF

สำหรับไตรมาส 2 ของปี 2567 มีหลายประเด็นที่ต้องคอยจับตามอง ได้แก่ค่าการกลั่นที่ลดลงจาก
การชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อทั่วโลก การปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นพระโขนง และอุปสงค์ที่ลดลงตามฤดูกาล ซึ่งบริษัทฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการทำงาน และจะเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องสู่ทศวรรษที่ 5 ในปี 2567
ตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยยึดมั่นในจุดยืนในการรักษาสมดุลในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “Greenovate to Regenerate สมดุลธรรมชาติ สรรค์พลังไม่สิ้นสุด” และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions อย่างยั่งยืน

นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการ
ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญในไตรมาสแรกของปี 2567 ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังนี้

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา) มี EBITDA 4,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 สร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่นของ 2 โรงกลั่นน้ำมันมาตรฐานระดับโลกรวมกว่า 271,700 บาร์เรลต่อวัน ปัจจัยหลักมาจากโรงกลั่นศรีราชาสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยมาอยู่ที่ 150,300 บาร์เรลต่อวัน (จากระดับ 119,300 บาร์เรลต่อวัน) ถือเป็นกำลังการผลิตเฉลี่ยรายไตรมาสที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของโรงกลั่นศรีราชา  ขณะที่โรงกลั่นพระโขนง ยังคงรักษากำลังการกลั่นที่ระดับสูง 121,400 บาร์เรลต่อวัน  ทั้งนี้ในไตรมาส 1 ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (จาก  4.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาส 4 ปี 2566 มาเป็น 6.08 เหรียญสหรัฐฯ) และการรับรู้ Inventory Loss ลดลง ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCPT เติบโตจากการจัดหาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ให้กับโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง และการเพิ่มช่องทางซื้อขาย รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังประเทศใหม่ๆ ทำให้มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จาก
ไตรมาสก่อนหน้า

กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 1,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ด้วยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงถึง 3,541 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ  5 จาก
ไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสแรกปี 2566  เติบโตจากเครือข่ายสถานีบริการที่ครอบคลุม 2,217 สถานีทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลยุทธ์การตลาดที่ผสานรวมอย่างมีประสิทธิภาพ และยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากสถานีบริการภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) ซึ่ง ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 สถานีบริการภายใต้การบริหารของ BSRC ได้เปลี่ยนเป็นแบรนด์บางจากแล้วเสร็จ 332 สถานี ส่งผลให้แบรนด์บางจากมีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น สะท้อนจากยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.2
(จากร้อยละ 28.8 ณ สิ้นปี 2566)

กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสแรกปี 2567 มี EBITDA 1,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 66 จากไตรมาสแรกปี 2566

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) มี EBITDA 284 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสแรกปี 2566 ปัจจัยหลักจากยอดขายที่สูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ BSRC 

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA รวม 7,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากไตรมาสแรกปี 2566 สร้างสถิติรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากปริมาณการผลิตและปริมาณการขายปรับเพิ่มขึ้นจากการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสของแหล่งผลิต Statfjord ที่ OKEA ASA ได้เข้าถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566  และแหล่งผลิต Hasselmus ที่เริ่มดำเนินการ
เชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2566 อย่างไรก็ตาม Statfjord มีปริมาณการผลิตในปี 2567 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้เกิดการตั้งด้อยค่าจากการลงทุนสุทธิกับรายการกลับรายการด้อยค่าของ Yme คิดเป็นขาดทุนจากการด้อยค่าหลังหักภาษีตามสัดส่วนประมาณ 366 ล้านบาท

- Advertisment -

Must Read