เมซง คาร์เทียร์ จัดแสดงนิทรรศการ Cartier, Crystallization of Time เป็นครั้งที่ 2 หลังการเปิดตัวนิทรรศการครั้งแรกในปี 2019 ณ ศูนย์ศิลปะแห่งชาติโตเกียว โดยนิทรรศการดังกล่าว ยังคงรูปแบบในการเลือกนำเสนองานสร้างสรรค์ร่วมสมัย ภายใต้แนวคิดอันเป็นเอกลักษณ์ของการวิวัฒน์ผ่านห้วงเวลา โดยไม่ได้จำกัดชิ้นงานอยู่ที่เพียงเรือนเวลา แต่ครอบคลุมจิวเวลรี่ไอคอนิกและจิวเวลรี่ชั้นสูงมากมาย ที่เหล่าอัญมญีหรือขั้นตอนการออกแบบ ต่างต้องผ่านห้วงเวลา เพื่อตกผลึกชิ้นงานส่องประกายโดดเด่น โดยการจัดแสดงในครั้งนี้ ถูกนำมาเรียบเรียงเรื่องราวใหม่ บนพื้นที่ใหม่ขนาดใหญ่ ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของกรุงโซล ทงแดมุน ดีไซน์ พลาซ่า (DDP : Dongdaemun Design Plaza) โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2567
นิทรรศการครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะราว 300 ชิ้น โดยนำผลงานชิ้นมรดกจากคาร์เทียร์คอลเลคชั่น
(Cartier Collection) เอกสารจากคลังผลงาน อาทิ แบบร่างของจิวเวลรี่ มาจัดแสดงร่วมกับผลงานสร้างสรรค์ร่วมสมัยจากคอลเลคชั่นส่วนตัวของนักสะสมทั่วโลกที่ยากจะหาโอกาสรับชมได้ ทั้งนี้เพื่อวิเคราะห์มิติทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์อันทรงพลังของคาร์เทียร์ ผ่านการจัดแสดงทั้งสามมุมมอง ได้แก่ “Material Transformation and Colors” (การแปลงโฉมวัสดุและสีสัน) “Forms and Designs” (รูปทรงและการออกแบบ) และ “Universal Curiosity” (ความสงสัยใคร่รู้อันเป็นสากล) โดยมีห้วงเวลาเป็นแกนกลางในการนำเสนอ ทำให้นิทรรศการครั้งนี้เป็นการสำรวจจิตวิญญาณนักบุกเบิก ตลอดจนวิสัยทัศน์สร้างสรรค์อันเป็นลักษณะเฉพาะ ตั้งแต่ยุคแรกของการก่อตั้งเมซงมาจนถึงปัจจุบันของคาร์เทียร์
บริษัทสถาปนิก New Material Research Laboratory (NMRL) ซึ่งก่อตั้งโดยฮิโรชิ ซุกิโมโต (Hiroshi Sugimoto) และโทโมยูกิ ซะคาคิดะ (Tomoyuki Sakakida) รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบนิทรรรศการ หลังจากประสบความสำเร็จกับการร่วมออกแบบนิทรรศการครั้งแรก ณ กรุงโตเกียวมาแล้ว นิทรรศการครั้งนี้มีดีไซน์โดดเด่น เต็มไปด้วยความรู้สึกน่าอัศจรรย์ อันเกิดจากการผสมผสานวัสดุธรรมชาติที่ทนทานผ่านกาลเวลากับผลงานสร้างสรรค์ของคาร์เทียร์ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ ยังได้ร่วมทำงานกับ Korean Traditional Culture Research Institute Onjium / Arumjigi Culture Keepers Foundation (สถาบันวิจัยวัฒนธรรมเกาหลีดั้งเดิม ออนเจียม / มูลนิธิผู้พิทักษ์วัฒนธรรม อารุมจิกิ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคาร์เทียร์มายาวนาน เพื่อตกแต่งพื้นที่การจัดแสดงนิทรรศการ โดยการตกแต่งพื้นที่นิทรรศการหลายโซนได้ใช้วัสดุดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์แทนมรดกตกทอดของเกาหลี สร้างความตรึงตาตรึงใจแก่ผู้เข้าชม และเนื่องจากปี 2024 เป็นปีที่ DDP ก่อตั้งมาครบ 10 ปี การจัดนิทรรศการจึงถือเป็นการฉลองหมุดหมายสำคัญนี้ไปพร้อมกัน
นิทรรศการครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่คอลเลคชั่นของคาร์เทียร์ เอกสารในคลัง มรดกของเมซง รวมถึงชิ้นงานส่วนตัวของนักสะสมระดับโลก ได้มาเผยโฉมสู่สายตาสาธารณชนชาวเกาหลีและนักท่องเที่ยวทั่วโลก ต่อจากนิทรรศการ “The Art of Cartier” ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ด๊อกซุกุง (Deoksugung Museum) เมื่อปี 2008
โดยในงานแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปิแอร์ ไรเนโร (Pierre Rainero) ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์, สไตล์ และเฮอริเทจ ของคาร์เทียร์ ได้ร่วมกับ โทโมยูกิ ซะคาคิดะ ตัวแทนจากบริษัทสถาปนิก ผู้ออกแบบนิทรรศการ ได้ให้ข้อมูล พร้อมกล่าวถึงแรงบันดาลใจและที่มาที่ไปของการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ รวมถึงตอบคำถามในรายละเอียดกับสื่อมวลชนเกาหลีใต้
ปัจจุบันนิทรรศการเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ทุกวัน ตามเวลาเปิดทำการของ DDP ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2567 นี้ โดยมีค่าเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 18,000 วอน (ราว 482 บาท)* และมีอัตราค่าเข้าชมที่ลดหลั่นกันไปสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน
*คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 2 พ.ค. 2567 โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 บาท = 0.027 วอน
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งเรื่องแนวคิดของนิทรรศการ รายละเอียดสถานที่ และการเข้าชมงานนิทรรศการได้ที่ท้ายข่าวฉบับนี้
เกี่ยวกับนิทรรศการ Crystallization of Time
อัญมณีที่ถือกำเนิดผ่านห้วงเวลาอันยาวนาน ผนวกกับดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งมหัศจรรย์ในธรรมชาติ และวัฒนธรรมทั่วโลก เกิดการตกผลึกเป็นเครื่องประดับคาร์เทียร์ ที่ฝีมือเชิงช่างอันเหนือล้ำได้หล่อหลอมของขวัญแห่งพื้นพิภพและมนุษยชาติเข้าเป็นหนึ่งเดียว
นิทรรศการครั้งนี้เสนอภาพรวมวิวัฒนาการที่ไม่หยุดยั้งของสไตล์ของคาร์เทียร์ ถือเป็นความพยายามอันเป็นเอกลักษณ์ในการขยายมุมมองต่อผลงานดีไซน์ของคาร์เทียร์ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ทั้งยังเน้นย้ำหลักการ อันยั่งยืนเหนือกาลเวลา ที่เป็นเครื่องนำทางให้สไตล์คาร์เทียร์มีความชัดเจนเป็นเอกลักษณ์และมีชีวิตชีวาเป็นที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติมของนิทรรศการ
นิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงพร้อมสูจิบัตรที่จัดพิมพ์เป็นภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษโดยบริษัท Joong Ang ilbo โดยจะมีการเสนอโปรแกรมการประชุม เวิร์คช็อป และกิจกรรมสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาวต่อสาธารณชนต่อไป
วันที่จัดแสดง : วันพุธที่ 1 พฤษภาคม – วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2024
สถานที่จัดแสดง : DDP Art Hall ทงแดมุน ดีไซน์ พลาซ่า กรุงโซล เกาหลีใต้
เวลา : 10.00-19.00 น. (จันทร์-พฤหัส-อาทิตย์) / 10.00-20.00 น. (ศุกร์-เสาร์) / จำหน่ายบัตรจนถึง 45 นาทีก่อนเวลาปิดทำการ
ผู้จัด : Seoul Design Foundation, Joong Ang Ilbo LTD.
ด้วยความร่วมมือจาก : ONJIUM, Utsunomiya City / Oya Stone, Eugene Studio
ความร่วมมือพิเศษ : คาร์เทียร์ (Cartier)
ฉากนิทรรศการ : New Material Research Laboratory
ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 18,000 วอน , เยาวชน (13-18 ปี) 10,000 วอน , เด็ก (3-12 ปี) 5,000 วอน
และ ทารก (ไม่เกิน 2 ปี) ไม่คิดค่าเข้าชม
เว็บไซต์ทางการ : cartier-crystallizationoftime.co.kr
ที่ตั้ง / แผนที่
281, Eulji-ro, Jung-gu, Seoul, 04566 Republic of Korea
การเดินทางด้วยรถไฟใต้ดิน Seoul Metro สามารถเดินทางมาได้ด้วยสาย 2 4 และ 5 ลงสถานที Dongdaemun History & Culture Park ทางออกหมายเลข 1
หมายเหตุ : ไม่มีที่จอดรถ
__
คอลเลคชั่นคาร์เทียร์ และนิทรรศการคาร์เทียร์ (The Cartier Collection and Cartier Exhibitions)
ในทศวรรษ 1970 คาร์เทียร์เริ่มเก็บรวบรวมผลงานที่ผลิตขึ้นในช่วงปีแรกๆ และการรวบรวมเครื่องประดับจิวเวลรี่ เรือนเวลา ตลอดจนแอคเซสเซอรี่ส์ล้ำค่าประเภทอื่นๆ เพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งนำมาสู่การก่อตั้งคอลเลคชั่นคาร์เทียร์ (Cartier Collection) ในปี 1983
ปัจจุบันคอลเลคชั่นคาร์เทียร์ประกอบด้วยผลงานจากทศวรรษ 1860 ถึงทศวรรษ 2000 จึงเป็นบันทึกเชิงวัตถุที่สะท้อนประวัติศาสตร์แห่งสไตล์และความคิดสร้างสรรค์ที่ยาวนานกว่า 170 ปีของคาร์เทียร์ ทั้งยังเป็นบันทึกเชิงประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมวิวัฒนาการทางมัณฑนศิลป์และทางสังคม ตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
ผลงานในคอลเลคชั่นคาร์เทียร์มีประมาณ 3,500 ชิ้น และยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่สนใจของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก นับตั้งแต่การจัดนิทรรศการใหญ่ครั้งแรกในปี 1989 ณ พระราชวังเปอตีต์ ปาเลส์ (Petit Palais) กรุงปารีสเป็นต้นมา คอลเลคชั่นคาร์เทียร์ได้รับการจัดแสดงในนิทรรศการเฉพาะเรื่อง 40 นิทรรศการ ณ สถาบันที่มีชื่อเสียงของโลกหลายแห่ง ที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิแตน (Metropolitan Museum of Art) นครนิวยอร์ก (1997) พิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน (1998) Museo del Palacio de Bellas Artes ประเทศเม็กซิโก (1999) พิพิธภัณฑ์พระราชวังเครมลิน กรุงมอสโก (2007) พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง (2009 และ 2019) พระราชวังกร็องด์ ปาเลส์ กรุงปารีส (2013-14) หอศิลป์แห่งชาติออสเตรเลีย (National Gallery of Australia) กรุงแคนเบอร์ร่า (2018) ศูนย์ศิลปะแห่งชาติ (National Art Center) กรุงโตเกียว (2019) Musée des Arts Décoratifs กรุงปารีส (2021-2022) และพิพิธภัณฑ์ลูฟร์อาบูดาบี (The Louvre Abu Dhabi) (2023)