Arun Plus – CATL บรรลุข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกันจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะพร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2024 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) พร้อมด้วย Mr. Ni Zheng, Executive president of overseas car business, and CEO of Japan & Korea affiliate, Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) ลงนามสัญญาร่วมจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ CTP ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ซึ่งจัดขึ้นที่งาน Shanghai International Automobile Industry Exhibition สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตภายใต้ความร่วมมือกับ CATL ผู้นำในระดับสากลด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV ที่ยั่งยืน ท่ามกลางความยินดีของทั้งสองฝ่าย
นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่าง Arun Plus กับ CATL ในครั้งนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่อย่างครบวงจร ด้วย CATL เป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Battery Value chain) ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือในวันนี้จะนำไปสู่ก้าวต่อไปที่สำคัญในการสร้างให้เกิด Battery Ecosystem ในอนาคตด้วยเช่นกัน”
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นบริษัทที่ถือหุ้นของ Arun Plus 100% และมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ สถานีบริการน้ำมันมากกว่า 2,200 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์บริการยานยนต์ภายในสถานีบริการน้ำมัน โดยร่วมมือกับ Start Up เพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่เพื่อสนับสนุน Mobility และ Lifestyle ในอนาคต เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 Arun Plus ได้ร่วมกับ Honhai Precision Industry Co., Ltd หรือ FOXCONN ก่อตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด เพื่อดำเนินการผลิต EV รองรับความต้องการที่สูงขึ้นทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน โดยจะเริ่มเดินสายการผลิตในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50,000 คันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 150,000 คันในปี 2573 ซึ่งการก่อตั้งโรงงานผลิต EV ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการก่อตั้งโรงงานแบตเตอรี่ CTP ในครั้งนี้ และในอนาคต Arun Plus ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับ CATL เพื่อนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ของ CATL มาใช้ในประเทศ อาทิ เทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping) เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ (Battery Recycling) เทคโนโลยีแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ CATL (CATL Integrated Intelligent Chassis : CIIC) พร้อมทั้งจะศึกษาแนวทางในการเป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในอนาคต นายเอกชัยเสริม
ความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ CTP นี้ ถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือระหว่าง Arun Plus กับ CATL ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม Arun Plus แล้ว Arun Plus ยังจะทำงานกับ CATL อย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย และมีส่วนร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป
เทคโนโลยี Cell-To-Pack (CTP) คืออะไร?
เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้กันโดยแพร่หลาย ณ ปัจจุบัน เป็นเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่แบบดั้งเดิมหรือ Cell-To-Module (CTM) คือเซลล์แบตเตอรี่จะถูกประกอบเป็นโมดูล (Module Assembly) ก่อนนำแต่ละโมดูลมาประกอบเป็นแบตเตอรี่แพ็คอีกที ซึ่งการผลิตแบตเตอรี่แบบดั้งเดิมนี้จะทำให้เสียพื้นที่สำหรับบรรจุเซลล์แบตเตอรี่ค่อนข้างมาก ขณะที่เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่แบบ Cell-To-Pack (CTP) เป็นเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่แพ็คที่ช่วยจัดเก็บเซลล์แบตเตอรี่ลงในแบตเตอรี่แพ็คได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกอบเป็นโมดูล ทำให้มีพื้นที่บรรจุเซลล์แบตเตอรี่ได้มากขึ้น เพราะไม่มี Case Module และทำให้แบตเตอรี่มีความหนาแน่นของพลังงานสูงขึ้น
ข้อดีของแบตเตอรี่ Cell-To-Pack
- แบตเตอรี่ CTP สามารถนำไปใช้กับ EV ได้ทุกประเภท ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์เชิงพาณิชย์ รถบัส รถบรรทุก และสามารถเพิ่มจำนวนแบตเตอรี่แพ็คได้ตามลักษณะและความต้องการใช้งานของ EV แต่ละประเภท ซึ่งรถยนต์ 4 ล้อทั่วไปจะใช้แบตเตอรี่แพ็ค 1 แพ็คต่อคัน หากเป็นรถบัสหรือรถบรรทุกจะมีความต้องการแบตเตอรี่แพ็คมากกว่า 1 แพ็คต่อคัน
- เทคโนโลยี CTP ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแบตเตอรี่ได้ร้อยละ 10-15 เนื่องจากมีพื้นที่บรรจุเซลล์แบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี CTM
- ต้นทุนในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลดลงร้อยละ 20-25 เนื่องจากเทคโนโลยี CTP ช่วยลดปริมาณชิ้นส่วนในกระบวนการผลิตได้ร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ CTM ซึ่งต้องประกอบเป็นโมดูลก่อนนำไปบรรจุลงแบตเตอรี่แพ็ค
- น้ำหนักของแบตเตอรี่ลดลงเนื่องจากมีส่วนประกอบในแบตเตอรี่น้อยลงทำให้ EV ใช้พลังงานน้อยลง สามารถวิ่งได้ไกลมากขึ้น
- แบตเตอรี่ CTP มีความปลอดภัยกว่าเพราะมีประสิทธิภาพในการระบายความร้อนได้ดีกว่าแบตเตอรี่แบบ CTM
ความร่วมมือระหว่าง Arun Plus กับ CATL
- จากการศึกษาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจร่วมกันในปี 2565 ที่ผ่านมา Arun Plus และ CATL จึงได้ตัดสินใจลงนามสัญญาจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ CTP (Signing Ceremony of Agreement on Production Line and IP License) ในวันที่ 20 เมษายน 2566 โดยมีแผนความร่วมมือ 3 ระยะดังนี้
- ระยะสั้น คือ ความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่แบบ CTP ในประเทศไทยเพื่อส่งมอบแบตเตอรี่ CTP ให้กับบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าโรงงานจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,605 ล้านบาท (103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการก่อสร้างโรงงาน และมีแผนเริ่มการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 (ค.ศ. 2024) โดยมีกำลังผลิตเริ่มต้นที่ 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh) และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตตามความต้องการใช้งานภายในประเทศได้ถึง 18-20 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
- ระยะกลาง คือ ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี CTP ให้กับโรงงานแบตเตอรี่ในไทย (Localization) สำหรับชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ Battery Swapping, Battery Recycling, CATL Integrated Intelligent Chassis (CIIC) เป็นต้น
- ระยะยาว คือ ความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย ตลอดจนความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอาเซียน
- ปัจจุบัน Arun Plus กับ CATL อยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่ตั้งโรงงาน โดยคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ใกล้เคียงกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี
- กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของโรงงาน ได้แก่ โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศที่ใช้แบตเตอรี่ CTP และแบตเตอรี่เซลล์ของ CATL
- โรงงานประกอบแบตเตอรี่ CTP นี้ถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือระหว่าง Arun Plus กับ CATL โดยทั้งสองบริษัทยังมีแผนที่จะร่วมลงทุนในเทคโนโลยีอื่นๆ ทั้งเทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping) ที่ช่วยลดระยะเวลาในการชาร์จแบตฯ เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ (Battery Recycling) ที่นำแบตเตอรี่ซึ่งหมดอายุการใช้งานเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพให้กลายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ สนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตลอดจนเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้า (CATL Integrated Intelligent Chassis : CIIC) และการศึกษาแนวทางในการเป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่แบบครบวงจรในประเทศไทย
- การเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยผลักดันให้เกิดการตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูงที่ช่วยเสริมสร้างทักษะแรงงานไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น ส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้มีศักยภาพทัดเทียมในระดับสากลต่อไปในอนาคต